ชวเลข เทคนิคจดเร็วระดับปรมาจารย์

ชวเลข เทคนิคจดเร็วระดับปรมาจารย์

Interesting Reads | 31 Mar 2023

8,121 Views

ย้อนไปในบทความก่อนหน้า เราเคยเล่าถึง  เคล็ด(ไม่)ลับ 7 อย่างเพื่อการจดโน้ตที่เยี่ยมยอด  ไปแล้ว สำหรับบล็อกนี้ ขอชวนคุณผู้อ่านปีนขึ้นหิ้งไปรื้อวิชาจดบันทึกเร็วระดับปราบเซียน ที่มีชื่อว่า ชวเลข เพราะการจดบันทึกด้วยตัวอักษรแบบธรรมดาทำให้จดได้ช้าในสถานการณ์เร่งด่วน ดังนั้นบทความนี้จะพาคุณอ่านเรื่องสัพเพเหระของชวเลขกัน โดยไล่เรียงกันตั้งแต่ความเป็นมาจนถึงชวเลขในยุคปัจจุบัน

 

รู้จักความหมายของ ชวเลข

ชวเลข เป็นคำสมาส ระหว่างสองคำ คือ  ชว + เลข  (การเขียนเร็ว) โดย “ชว” หมายความว่า เร็ว ส่วน “เลข” คือ การเขียน ส่วนในภาษาอังกฤษ เรียกอย่างลำลองว่า Shorthand แต่การเขียนเร็วลักษณะนี้ไม่ใช่การเขียนเร็วอย่างไก่เขี่ย ใช้สัญลักษณ์หรือตัวย่อแทนการเขียนตัวอักษร คำ หรือวลีแบบเต็ม อย่างมีกฎเกณฑ์ ช่วยให้จดบันทึกอย่างรวดเร็ว ทั้งยังช่วยให้เก็บใจความสำคัญครบถ้วน ผู้บันทึกย้อนกลับมาถอดความหมายได้อีกด้วย

 

จุดเริ่มต้นของชวเลข

ตัวอย่างรูปแบบการเขียนแบบไทโรในตำรา Codex Casselanus  จากศตวรรษที่ 9 (ภาพจาก: Wikimedia Commons)

 

จากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ทำให้พอสรุปได้ว่า ต้นกำเนิดชวเลขกำเนิดในอารยธรรมโรมัน มีรากฐานมาจากการเขียนแบบไทโร (Tiro, ~80 BC – 4 BC) ไทโร เป็นทาสรับใช้และเลขานุการของนักปรัชญา รัฐบุรุษ นักกฎหมายชาวโรมัน ซิเซโร (Marcus Tullius Cicero, 106 BC – 43 BC) จนวันหนึ่งชาวโรมันอยากเก็บถ้อยแถลงทรงปัญญาของซิโซเรไม่ให้สูญหายไป จึงมีผู้พยายามจดบันทึกคำพูดเขาเอาไว้ ไทโรสังเกตว่าการจดตามคำพูดของซิเซโร ซึ่งจ้อรัว ๆ ราวปืนกล ปุถุชนคนเดินดินย่อมไม่อาจจดทันด้วยตัวอักษรโรมันแบบธรรมดาเป็นแน่แท้ ไทโรจึงคิดค้น “เครื่องหมายแทนคำพูดการเขียนแบบไทโร” (The Tiro Shorthand) และนำมาใช้ครั้งแรก 63 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงแรก ๆ เครื่องหมายของไทโรช่วยย่นระยะเวลาการจดบันทึกด้วยข้อความแบบปกติได้ดี มีสัญลักษณ์ใช้อยู่ประมาณ 4,000 ตัว  

 

ซิเซโร (Marcus Tullius Cicero)

ซิเซโร Marcus Tullius Cicero (ภาพจาก: Britanica)

 

ระบบเครื่องหมายของไทโรได้รับความนิยมมากในหมู่หมู่นักปราชญ์ นักการเมือง นักเขียน นักบวชตามแคว้นต่าง ๆ โรมัน และนำมาใช้มากว่าหนึ่งพันปี แม้อาณาจักรล่มสลายไป แต่ยังคงมีผู้พัฒนาดัดแปลงระบบเรื่อยมาจนมีเครื่องหมายมากกว่า 13,000 ตัว ครั้นเมื่อยุโรปเข้าสู่ยุคกลางอันแสนมืดมิดทางความคิด สัญลักษณ์สำหรับจดเร็วถูกโยงว่าเกี่ยวข้องกับแม่มดหมอผี (มีความคล้าย อักษรรูน การเขียนแบบไทโรจึงเริ่มเสื่อมความนิยมลงในช่วงปี ค.ศ. 1100

 

พัฒนาการของชวเลขยุคใหม่

ยุคกลางในยุโรปสิ้นสุดในศตวรรษที่ 15 ศาสตร์และศิลปะจากยุคคลาสสิกหลายแขนงได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาเฟี้ยวฟ้าวอีกครั้งในสมัยเรเนสซองส์ การค้นพบเอกสารบทสวดที่ใช้ ระบบการเขียนแบบไทโรในอารามนักบวชเบเนดิกติน ถือเป็นการปูทางไปสู่ระบบชวเลขของภาษาตระกูลอื่นๆ ของยุโรป

ในศตวรรษที่ 17 ณ เกาะอังกฤษ ผู้รู้หลายคนเริ่มสร้างระบบชวเลขขึ้นใช้เอง มีหลักการคร่าว ๆ ร่วมกัน คือ บันทึกตามเสียงที่ได้ยิน ชวเลข ณ ตอนนั้นนิยมใช้กันในวงจำกัด เช่น นักจดบันทึก เสมียน นักกฎหมาย นักการเมือง 



เซอร์ไอแซค ปิทแมน ผู้คิดค้นชวเลขแบบปิทแมน (ภาพจาก:  the National Portrait Gallery, London)

 

การเขียนชวเลขยุคใหม่เริ่มต้นขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อเซอร์ไอแซค ปิทแมน (Sir Isac Pitman, 1813 – 1897) ชาวอังกฤษสร้างระบบ ชวเลขแบบปิทแมน โดย เซอร์ ไอแซค ปิทแมน  ในปี ค.ศ. 1837 อีก 50 ปีต่อมาจอห์น โรเบิร์ต เกร็กก์ (John Robert Gregg, 1867 - 1948) นักการศึกษาชาวไอริช-อเมริกัน พัฒนาชวเลขแบบเกร็กก์ ในปี 1888

ระบบชวเลขของปิทแมนและเกร็กก์ต่อยอดให้นักชวเลขยุคหลังสร้างชวเลขระบบใหม่ ๆ ให้แตกแขนงแยกย่อย เรียนรู้ได้ง่าย และสะดวกกว่าแบบดั้งเดิม เช่น Speedwriting (จดบันทึกด้วยอักษรปกติแต่ลดรูปคำ) Teeline  (พัฒนาสัญลักษณ์ที่รูปทรงเรียบง่ายคล้ายตัวอักษรภาษาอังกฤษ ใช้เส้นสัญลักษณ์ต่อเนื่องกันเพื่อสร้างคำใหม่)

 

จอห์น โรเบิร์ต เกร็กก์ ผู้คิดค้นชวเลขแบบเกร็กก์ (ภาพจาก: Wikimedia Commons)

 

จุดเด่นของชวเลข

จุดเด่นของการบันทึกด้วยชวเลข คือ การจดบันทึกแบบเขียนตามเสียง  (phonemic writing system) ได้ยินอย่างไรก็เขียนตามเสียงนั้น พยัญชนะที่ไม่ออกเสียง จะไม่ถูกเขียนลงในชวเลข หรือหากเป็นคำใช้บ่อยก็ใช้เพียงสัญลักษณ์เพียงตัวเดียว เพื่อประหยัดเวลา ช่วยให้เขียนไวขึ้น ไม่เสียเวลาในการเขียนทั้งคำ เช่น ในชวเลขแบบเกร็กก์ จะเขียนเพียงสัญลักษณ์ [k] เพื่อแทนคำ can การจดตามคำพูด โดยใช้ระบบการเขียนแบบธรรมดาสามารถจดบันทึกข้อความได้เพียง  20 – 30 คำต่อนาที เท่านั้น ในทางกลับกัน การใช้ชวเลขจะช่วยเพิ่มความเร็วให้จดข้อความได้มากกว่า 120 คำขึ้นไปต่อนาที สำหรับผู้เรียนชวเลขต้องสามารถจดได้ไม่น้อยกว่า  225 คำต่อนาที  ซึ่งถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยการจดชวเลข มิเช่นนั้นจะถือว่าสอบไม่ผ่าน  

ความแตกต่างอย่างคร่าวๆ ระหว่างชวเลขแบบปิทแมนและเกร็ก เป็นดังนี้

ชวเลขแบบปิทแมน
ชวเลขแบบเกร็กก์
  • ต้องเขียนด้วยดินสอ เพราะมีสัญลักษณ์แบบเส้นหนัก เส้นเบา
  • ใช้เส้นบรรทัดกำหนดสระ
  • ใช้ความยาวของสัญลักษณ์เพื่อแยกเสียงคำ
  • เส้นสัญลักษณ์น้ำหนักเท่ากัน เขียนได้ทั้งดินสอหรือปากกา
  • มีสัญลักษณ์เฉพาะสำหรับใช้บันทึกเสียงสระ
  • ใช้เส้นตวัดจากซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย และมีเส้นเฉียง

 

 

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชวเลขแบบปิทแมนและแบบเกร็กก์ (ภาพจาก: Britanica)

 

ชวเลขในสยาม

ชวเลขแบบปิทแมนเริ่มใช้ ครั้งแรก ในเมืองไทยในรัชกาลที่ 5 สำหรับจดคำให้การในศาลยุติธรรม หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร (1883 – 1971) เป็นคนไทยคนแรกที่ดัดแปลงชวเลขแบบปิทแมนสำหรับใช้ในภาษาไทย ต่อมาหลวงมิตรธรรมพิทักษ์ (วงค์ เศวตเลข) ดัดแปลงชวเลขแบบเกร็กก์จากต้นฉบับภาษาอังกฤษให้รองรับภาษาไทย และบรรจุเป็นหลักสูตรในโรงเรียนชวเลขและพิมพ์ดีดในพระนครก่อน จนได้บรรจุเป็นหลักสูตรของโรงเรียนพณิชยการ

0001-vert.jpg

ตัวอย่างชวเลขไทย (พยัญชนะ) แบบเกร็กก์

ดูตัวอย่างชวเลขไทยแบบเกร็กก์ทั้งหมดได้ ที่นี่

 

การประยุกต์ใช้ชวเลข

ด้วยจุดเด่นเรื่องในช่วยให้จดบันทึกข้อมูลได้รวดเร็ว นอกจากการใช้ในการทำงานแล้ว ชวเลขจึงนำไปประยุกต์ใช้ในหลายสถานการณ์ เช่น ใช้สำหรับจดบันทึกข้อความทั่วไปในชีวิตประจำวัน ใช้เป็นตัวอักษรลับสำหรับบันทึกข้อความส่วนตัว แม้กระทั่งใช้เขียนนวนิยายหรือบทความ เช่น นวนิยายอิงอัตชีวประวัติ David Copperfield (1850) บอกเล่าชีวิตขื่นขมของชาลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens, 1812 – 1870) นั้น เขียนขึ้นด้วยชวเลข

 

หน้าแรกของนวนิยาย David Copperfield  ของชาล์ส ดิกเกนส์ เขียนด้วยชวเลขแบบเกร็ก

 

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายคนที่จดบันทึกด้วยชวเลข เช่น ซามูเอล พีพส์ (Samuel Pepys, 1633 – 1703) นักการเมืองชาวอังกฤษ เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton, 1643 – 1727) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ หรือวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson, 1856 – 1924) ประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐอเมริกา วิลสัน มักจดบันทึกความคิดแรกของเขาในเรื่องต่าง ๆ

กลอนท่องจำหลักการเขียนชวเลขแบบปิทแมน

 

การเสื่อมความนิยมของชวเลข

จากวิชาที่เคยมีการเรียนการสอนอย่างเป็นล่ำเป็นสันตามโรงเรียนและสถาบันต่าง ๆ จนเคยได้รับฉายา “ภาษาเลขานุการ” แล้วไฉนชวเลขกลายมาเป็นวิชาขึ้นหิ้งบูชาครูไปล่ะ? หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอันรุดหน้าไปไกล ทำให้มีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบใหม่ ๆ ใช้งานง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส เช่น เครื่องบันทึกเสียง ฟีเจอร์พิมพ์ด้วยเสียงหรือบันทึกเสียงบนคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟน ชวเลขก็ได้กลายเป็นทักษะล้าหลังไปในชั่วข้ามคืน อีกทั้งจำนวนผู้เรียนผู้สอนต่างเริ่มร่อยหรอลงไปตามกาลเวลา ซึ่งส่งผลให้อาชีพเลขานุการในยุคนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้หรือใช้ชวเลขเหมือนอย่างเมื่อก่อนอีก

 

ถึงกระนั้น แม้ชวเลขไม่ “ป็อป” อีกเหมือนเดิม แต่ยังพอมีผู้รู้ผู้สนใจวิชาชวเลขจำนวนหนึ่ง และบางสายงานยังใช้ชวเลขอยู่ เช่น การจดบันทึกในศาล การประชุม งานผู้สื่อข่าว ทั้งยังมีการจ้างงานในตำแหน่ง “ เจ้าพนักงานชวเลข ” ในหลายองค์กรเนื่องจากข้อมูลบางอย่างเป็นความลับจนไม่สามารถใช้การบันทึกเสียงจริงได้ การใช้ชวเลขจึงทำให้สามารถจดบันทึกข้อมูลสำคัญพร้อมทั้งช่วยเก็บความลับได้เป็นอย่างดี

ภาพโดย  Puwadon Sang-ngern  จาก Pexels.com

 

บทส่งท้าย

ชวเลขเป็นเครื่องมือการสื่อสารอย่างหนึ่งที่บรรพบุรุษของเราพัฒนามาเพื่อประหยัดเวลาและยังสามารถเก็บรักษาความลับในการจดบันทึกได้ แม้ชวเลขไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนสมัยก่อน เพราะอุปกรณ์ไอทีได้เข้ามามีบทบาทในการเก็บข้อมูล ทดแทนวิธีการดั้งเดิม เปลี่ยนชวเลขให้ฟังดูยากหรือล้าหลังไปสักหน่อย หากยังมีผู้สนใจศาสตร์การเขียนเร็ว น่าจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย นอกจากจะเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาการจดบันทึกของมนุษยชาติแล้ว คุณยังได้พัฒนาทักษะการสื่อสาร ทักษะในการฟังและจับใจความ เพิ่มพูนสมาธิของตัวเองอีกด้วย ด้วยความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ของภาษาชวเลขนี้เอง ชวเลขยังเปิดกว้างสำหรับผู้ใช้แต่ละคนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์จากการสร้างรหัสลับหรือสัญลักษณ์เฉพาะตัว มาลองฝึกเขียนชวเลขกันสักหน่อย เผื่อวันหนึ่งคุณอาจต้องจดบันทึกข้อมูลสำคัญอย่างรวดเร็วด้วยชวเลข

Our Products

Related Posts

Messenger Line