ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า
ปากกาที่ปลายด้ามเป็นยาง พอเอาไปถู ๆ บนกระดาษที่เขียนด้วยหมึกจากปากกาชนิดนี้
ทำไมถึงลบออก ทั้ง ๆ ที่ปากกาชนิดอื่นก็ลบไม่ออก ถ้าจะลบก็มีทางเดียวคือใช้ลิควิด
วันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบของเรื่องนี้กัน
ต้นกำเนิด
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1975 บริษัท Pilot
จากประเทศญี่ปุ่นได้คิดค้นปากกาลบได้
และผลิตภายใต้ชื่อ Frixion pen ซึ่งหมึกของปากกาชนิดนี้สามารถเลือนหายไปเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
และกลับมาปรากฎอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิเย็นตัวลง ณ อุณหภูมิหนึ่ง (Metamor Ink)
บริษัท Pilot ได้พัฒนาต่อจนได้วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2005 ในปีถัดมาก็ได้รับความนิยมอย่างมากในทวีปยุโรป
และปี ค.ศ. 2007 Frixion pen ก็ได้กลับมาประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่น
หลักการทำงาน
หมึกของปากกาลบได้นั้นประกอบไปด้วยสาร 3 ชนิด ได้แก่
- สาร A คือ สีหมึก
- สาร B คือ สารที่ทำให้หมึกเกิดสี
- สาร C คือ สารที่ทำให้สีเปลี่ยนตามอุณหภูมิ
ซึ่งในอุณหภูมิปกติสาร C จะไม่เกิดปฏิกิริยายาใด
ๆ ดังนั้นจึงเห็นสีหมึกบนกระดาษ
แต่เมื่อนำยางที่ปลายด้ามปากกามาถูบนกระดาษ จะทำให้เกิดความร้อนจากการเสียดสี
เมื่ออุณหภูมิสูงถึงประมาณ 60 องศาเซลเซียส สาร C ที่ทำให้สีเปลี่ยนตามอุณหภูมิ
จะทำหน้าที่แยกสาร A และสาร B ออกจากกัน ทำให้สีหมึกโปร่งแสง
นั่นทำให้เรารู้ว่าหมึกไม่ได้หายไปไหน เราแค่มองไม่เห็นเท่านั้นเอง
แล้วถ้าอยากให้หมึกกลับมาล่ะต้องทำยังไง?
ทำได้โดยการนำกระดาษมาใส่ถุงพลาสติกปิดให้สนิท แล้วนำใส่ช่องแช่แข็ง โดยสีจะเริ่มปรากฎให้เห็นเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงถึง
-10 องศาเซลเซียส และเห็นชัดเจนที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส
ข้อดี
ก็ตามชื่อเลยปากกาลบได้เมื่อเขียนผิด เหมาะสำหรับการจดบันทึกที่ต้องการความสวยงาม
ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด มองแล้วสบายตา เพราะเมื่อเขียนผิดแล้วก็สามารถลบได้เลย
ปราศจากรอยลิควิดมากวนใจ อีกทั้งเหมาะสำหรับเวลาเร่งรีบ
ไม่ต้องรอลิควิดแห้งถึงจะจดต่อได้ จะแก้ไขอะไรก็แสนง่าย และมีสีให้เลือกมากมาย
ข้อเสีย
เนื่องจากหมึกของปากกาลบได้มีคุณสมบัติเปลี่ยนสีเมื่อโดนความร้อน
จึงเป็นข้อควรระวังที่สุดเพราะถ้าบริเวณที่เราเขียนไปโดนความร้อนเข้า
หมึกบริเวณนั้นจะเลือนหายไป ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะใช้กับเอกสารทางราชการ เอกสารสำคัญ ลายเซ็น เป็นต้น
อีกทั้งการใช้ปากกาลบได้ยังเสี่ยงต่อการถูกลบ ถูกปลอมแปลงเอกสารได้ง่าย
ก็จบลงไปแล้วสำหรับคำถามที่ว่าทำไมปากกาลบได้ถึงลบได้ ซึ่งก็ถือเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความสะดวกสบายต่อผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก
นับเป็นความมหัศจรรย์ของปากกาตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์นะ
ไม่งั้นจะเกิดผลเสียที่ตามมาแน่นอน
ที่มาภาพ :