10 เรื่อง (ไม่) ลับ ที่ (เกือบ) ถูกลืม ของนายพลแพตตัน (ตอน 2)

10 เรื่อง (ไม่) ลับ ที่ (เกือบ) ถูกลืม ของนายพลแพตตัน (ตอน 2)

Interesting Reads | 4 Dec 2019

2,868 Views

บรรทัดหนึ่งจากสมุดไดอารี่ ฤดูหนาวปี 1944 ระหว่างกำลังติดอยู่ในวงล้อมรถถังนาซีกลางสมรภูมิ BATTLE OF THE BULGE นายพลจอร์จเอสแพตตัน บรรยายความรู้สึกลงไปว่า

“ช่วงเวลาฉิบหายบรรลัยจักรเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าหวนนึกถึง…. (ข้อความขาดหายไป) …ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่าผลลัพธ์ของมันจะไม่ต่างไปจากเดิม”

ภาพยนตร์และหนังสือส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับนายพลแพตตัน มักจะสดุดีวีรกรรมของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุผลที่มัน “ขายได้” นักเขียนหลายๆ คนตั้งแต่นักวิชาการชั้นศาสตราจารย์ไปจนถึงนักประพันธ์ริมคลองหลอดจึงนิยมเลือกหยิบจับเอาไดอารี่ของแพตตันช่วงปี 1943-1945 มาเป็นวัตถุดิบ จนหลายคน (เกือบ) ลืมไปว่าแพตตันเป็นหนึ่งในนักรบที่รบมาแล้วทั้ง 2 สงครามโลก 

เราจะย้อนกลับไปค้นหาข้อความที่ขาดหายไป กับ 10 เรื่อง (ไม่) ลับ ที่ (เกือบ) ถูกลืม ของนายพลกระดูกเหล็ก จอร์จเอสแพตตัน จาก scrapbook ปี 1918 บันทึกที่เขียนท่ามกลางห่าลูกปืนกลเยอรมันในสนามเพลาะ Meuse-Argonne สงครามโลกครั้งที่ 1 สมรภูมิแรกที่ทำให้แพตตันได้เหรียญ Purple Heart มาพร้อมกับฉายา “Old Blood and Guts”

6. แพตตันจารึกวีรกรรมในปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพสหรัฐฯ

วันพุธที่ 25 กันยายน 1918 แพตตันบันทึกเหตุการณ์ประจำวันลงไปในสมุดแพลนเนอร์ “ตรวจกองพันตอน 9 A.M. พบว่า 345  โคตรสกปรก ส่วน 344 ถึงจะสภาพดีกว่าแต่ก็ยังต้องซ่อมบำรุง, นายพล R. (*สันนิษฐานว่าหมายถึงร็อคเคนบัค ซึ่งเลื่อนยศเป็นนายพลจัตวา หรือไม่ก็เป็นนายพลโรเบิร์ต แอล บุลลาร์ด ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐที่ 2 ) เรียกประชุมที่กองพล 35, เห็นรถบรรทุกคันนึงวิ่งผ่านไปตอน 6.15 P.M. ทั้งคันเต็มไปด้วยร่างพลนำสารและรอยลูกปืนพรุนไปหมด, ยังไม่มีรายงาน, มีการเลี้ยงมื้อเย็นอย่างมโหฬาร, คาดว่า (**การเข้าตี) จะเริ่มขึ้นในไม่ช้า…” เช้าวันรุ่งขึ้น แพตตันก็ได้รับคำสั่งให้นำกองพันรถถังที่ 344 และ 345 เข้าตีฐานปืนกลเยอรมันในยุทธภูมิมิวส์-อาร์กอง นั่นเกือบทำให้ไดอารี่หน้านี้เป็นหน้าสุดท้ายในชีวิตของเขา…

การรุกที่มิวส์-อาร์กอง (Meuse-Argonne Offensive) เป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพสหรัฐฯ เพราะใช้กำลังพลมากกว่า 1.2 ล้านนาย ทำการรบต่อเนื่องยาวนานถึง 47 วัน และที่น่าสนใจก็คือมีทหารสยาม (Siamese Expeditionary Forces) เข้าร่วมภารกิจด้วย 850 นาย สันนิษฐานว่า 19 วีรชนจารึกชื่ออยู่ ณ อนุสาวรีย์ทหารอาสา หน้าวัดมหาธาตุฯ ล้วนพลีชีพในยุทธภูมินี้…

การรุกที่มิวส์-อาร์กองเป็นการวางแผนและตัดสินใจโดยการนำของนายพลจอห์น เจ เพอร์ชิ่ง เพราะต้องการเผด็จศึกเยอรมันให้เด็ดขาดภายในปี 1918 มีการจัดกำลังถึง 10 กองพลเข้าตีระลอกแรก และอีก 8 กองพลเป็นกำลังสนับสนุน แต่คราวนี้ฝ่ายจักรวรรดิเยอรมันรอตั้งรับด้วยทหารที่ผ่านการฝึกอย่างดีถึง 18 กองพล พร้อมปืนใหญ่ ปืนกล รถถัง เครื่องบินรบ และนานายุทโธปกรณ์แบบเต็มอัตราศึก ทหารอเมริกันต้องเข้าตีพื้นที่เปิดทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างยาวมากกว่า 20 x 13 ไมล์ ตลอดเส้นทางการบุกจะต้องเผชิญการตอบโต้จากป้อมปืน กับระเบิด และสิ่งกีดขวางที่ทหารเยอรมันทำไว้ตลอดแนวสนามเพลาะ กองพลน้อยรถถังที่ 304 ของแพตตัน พร้อมกำลังพล 26,000 นาย ได้รับภารกิจให้นำรถถังเข้าตีทางแนวรบด้านตะวันตก โดยรถถังจะเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันทำลายแนวปืนกลข้าศึก เพื่อเปิดทางให้ทหารราบกองพลที่ 28 และ 35 เข้าประจัญบาน

การบุกเริ่มขึ้นเวลา 6 โมงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน ทหารปืนใหญ่เปิดฉากระดมยิงจนควันปืนกลายเป็นทะเลหมอก แพตตันก็ยังคงปฏิเสธแนวทางของร็อคเคนบัค โดยการออกจากพื้นที่บัญชาการไปเดินนำหน้าแนวรถถังเหมือนเดิม เขาเดินเท้านำขบวนรถถังตลอดเส้นทางเคลื่อนพลมาตามถนนเมืองแคลร์มองต์-นูวิลลี่-บูรีลส์-แวแรงส์ เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร กระทั่งกระสุนปืนใหญ่นัดแรกจากป้อมปืนเยอรมันเริ่มยิงโต้และตามด้วยเสียงปืนกลอื้ออึง แพตตันสั่งให้ลูกน้องขับรถถังหลบลงหล่มโคลนเพื่อจับทิศแนวกระสุน เมื่อคำนวณได้ก็สั่งให้กำลังพลบุกตัดทางรถไฟที่อยู่ข้างหน้าทันที…

แพตตันหักล้างทฤษฎีของร็อคเคนบัคอีกครั้ง ด้วยการนำทหารรถถังสนธิกำลังกับทหารราบเดินเท้าเข้าสู่สนามเพลาะขนาดมหึมา แต่นี่ไม่ใช่สมรภูมิที่แพตตันจะเดินล่อลูกปืนได้สบายๆ เขาต้องตะเกียกตะกาย หมอบสลับคลานสลับวิ่งขึ้น-ลงหลุมเพลาะตลอดการบุก เพราะถูกปืนกลเยอรมันยิงกดดันอย่างหนัก… วีรกรรมสงครามที่ทำให้เขาได้เหรียญกล้าหาญเริ่มต้นจากวินาทีนั้นนั่นเอง…

7. ตบหน้าลูกน้องมันเด็กๆ, เอาพลั่วตีหัวยังเคยมาแล้ว!

“… มันเป็นช่วงเวลาที่บ้าบอคอแต่สิ้นดี ใจผมมันกระสันจะวิ่งตะลุยไปข้างหน้า แต่ขามันก็สั่นด้วยความกลัวในเวลาเดียวกัน วินาทีนั้นผมนึกถึงบรรพบุรุษของผม (*โคตรเหง้าศักราชฝั่งพ่อของแพตตันเป็นทหารมาทุกรุ่น โดยเฉพาะปู่และลุงที่สร้างชื่อจากการรบในสงครามกลางเมืองให้ฝ่ายใต้) อัศจรรย์จริงๆ ดูเหมือนผมจะมองเห็นท่านอยู่บนท้องฟ้า ท่านมาปรากฏให้เห็นเป็นกลุ่มเมฆเหนือแนวปืนกลเยอรมัน ท่านมองมาที่ผม ถึงตอนนั้นผมคำรามกับตัวเองว่า “ถึงเวลาแล้วที่ลูกหลานตระกูลแพตตันอีกคนจะได้ตายในสนามรบ!” ผมตะโกนเรียกลูกน้อง “เฮ้ย! บุกเข้าไป ฆ่าพวกมันหมด ใครจะมากับกูบ้าง!” แล้วผมก็ลุกขึ้นห้อตะบึงไปข้างหน้า ไม่สนห่านอะไรทั้งนั้น ผมเชื่อว่าผมต้องตายในสมรภูมินี้แน่นอน มีลูกน้องวิ่งตามผมมาติดๆ 6 คน ถูกยิงตายทันที 5 คน…”  

ส่วนหนึ่งของข้อความในจดหมายที่แพตตันบันทึกช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่าง ‘แจ้งเกิด’ และ ‘แจ้งตาย’ ในอาชีพทหารของเขา วันแรกของยุทธภูมิมิวส์-อาร์กองเพิ่งจะผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง เขาก็พาตัวเองและกำลังพลมาขุดหลุมฝังตัวเองกลางทุ่งสังหารซะแล้ว… รถถังที่จะใช้เป็นบังเกอร์เคลื่อนที่ให้ทหารราบก็ดันพากันติดหล่มโคลน ขณะที่ปืนกลหนักจากแนวยิงข้าศึกสาดกระสุนกดดันไม่ลืมหูลืมตา ทหารอเมริกันหลายคนเริ่มร้องไห้ หลายคนตายคาที่ในหลุมแบบไม่ต้องขุดให้เสียเวลาเพราะลูกปืนใหญ่ลงมาอย่างเหมาะเหม็ง แพตตันไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากสั่งให้ลูกน้องเร่งขุดแนวกำบัง ทหารราบบางคนหันหลังวิ่งกลับไปยังทางรถไฟ บางคนตัวสั่นงันงกอยู่ในหลุมลูกปืนใหญ่โดยไม่ยอมทำอะไรทั้งนั้น นั่นทำให้แพตตันโกรธมาก เขาเอาพลั่วสนามฟาดหัวพลทหาร 2-3 คนในหลุมนั้นอย่างเดือดดาลแล้วสั่งให้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของตน แพตตันตัดสินใจแสดงภาวะผู้นำตามวิสัยทหารม้า เขาโดดออกจากหลุมเพลาะออกวิ่งไปข้างหน้า ปากก็ตะโกนบอกลูกน้อง “บุกไปลากพวกมันลงนรก พวกมึงดู มันยิงกูไม่โดนหรอกโว้ย!”… ซึ่งก็ได้ผล ลูกน้องของแพตตันพากันวิ่งกรูตามไปแบบลืมตาย กระสุนปืนกลที่สาดแหวกอากาศมาไม่โดนแพตตันเลยซักนัด แต่พลทหารรอบๆ ตัวเขาโดนยิงร่วงกราว…

เรื่องการปฏิบัติกับกำลังพลด้วยวิธีรุนแรงนั้นเป็นหนึ่งในประเด็นถกเถียงที่นักวิชาการตั้งแง่กับจอร์จ แพตตัน มาโดยตลอด เหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือในปี 1943 สงครามโลกครั้งที่ 2 นายพลแพตตันเคยบุกเข้าไปตบหน้าลูกน้อง 2 คน ในโรงพยาบาลสนามที่ซิซิลี เพราะเข้าใจว่าพลทหารป่วยการเมืองเพื่อหนีทัพ (ต่อมาก็ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปขอโทษทหาร 2 นายนั้น รวมถึงหมอและพยาบาล) … ใครที่คิดว่านี่เถื่อนแล้ว ลองมาอ่านจดหมายที่แพตตันเขียนถึงภรรยาเมื่อ 25 ปีก่อนหน้า ซึ่งเขาเล่าเรื่องเอาพลั่วสนามฟาดหัวพลทหารไว้… ไม่ใช่เพียงเท่านี้ 2-3 วันก่อนที่จะบุกมิวส์-อาร์กอง แพตตันเขียนจดหมายถึงบิดาว่าระหว่างการรุกที่เซ้นต์-ไมไฮล์เขาได้พบพลทหารคนหนึ่งกำลังนอนคู้อยู่ในหลุมกระสุนปืนใหญ่ จึงตั้งใจจะลงไปกระทุ้งเกือกบู้ทซักป้าบ แต่พอเข้าไปถึงตัวก็พบว่าลูกตาขวาของหมอนั่นโดนกระสุนจนโบ๋ พลทหารไม่ได้อู้ แต่กลายเป็นศพไปแล้ว… รอดการโดนเตะไป!? 

… ส่วนใครที่เป็นห่วงสุขภาพจิตของพลทหารที่โดนพลั่วตีหัว แพตตันเองก็ไม่ทราบว่าพวกเขาเป็นตายร้ายดีอย่างไรในเวลาต่อมา แต่จากข้อความในจดหมายถึงภรรยา เขาคาดว่าพวกนั้นน่าจะโดนระเบิดกลายเป็นผีเฝ้าหลุมลูกปืนใหญ่ไปแล้ว…

8. แพตตันถูกกระสุนปืนกล แต่ยังสามารถบัญชาการและรายงานผลการรบได้

เช้าวันพฤหัสที่ 26 กันยายน 1918, ยุทธภูมิมิวส์-อาร์กอง… อีก 50 หลาจะถึงรังปืนกลเยอรมัน ผู้พันจอร์จ แพตตัน วิ่งห้อเหมือนวัวกระทิง มือหนึ่งถือปืนโคลท์รีโวลเวอร์ SAA .45 อีกมือหนึ่งก็โบกไม้ตะพดปลุกเร้ากำลังพล ทหารรถถังและทหารราบนับร้อยวิ่งตามมาแม้หลายนายจะถูกยิงล้มกลิ้ง ถึงวินาทีนั้นดูเหมือนโชคจะกลับมา รถถังหลายคันเริ่มสลัดหลุดจากหล่มโคลนแล้วขับเคลื่อนฝ่าสนามเพลาะมาเป็นแถวตามยุทธวิธีเข้าตี แต่แล้วกระสุนปืนกลหนักนัดหนึ่งก็พุ่งเจาะทะลุต้นขาซ้ายของแพตตันจนล้มกลิ้งลงไปแอ้งแม้งอยู่ในหลุมลูกปืนใหญ่ สิบตรีโจเซป ที แองเจโล่ รีบกระโดดลงหลุมตามไปปฐมพยาบาลเจ้านาย แพตตันต้องอยู่ในหลุมนั้นนานหลายชั่วโมงเพราะความแรงของกระสุนปืนกลทะลวงกล้ามเนื้อต้นขากระจุยไม่พอยังแรงต่อจนทะลุไปถึงสะโพกซีกซ้าย แต่เขายังมีสัมปชัญญะครบถ้วน สถานการณ์เข้าตีก็กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม รถถังและทหารราบติดดาบประจัญบานเข้าถึงรังปืนเยอรมันแล้ว การตะลุมบอนเกิดขึ้น ทุกคนสนใจแต่การฆ่าตัวอะไรก็ตามที่เดินหรือคลานในเครื่องแบบกองทัพเยอรมัน กระทั่งเสียงปืนเริ่มเบาบางลง ทหารเสนารักษ์จึงสามารถมาถึงตัวและรีบนำเขาลงเปลสนามหามไปรักษาที่เต๊นท์พยาบาล

แพตตันเสียเลือดมาก สิบตรีแองเจโลรายงานว่า เลือดของผู้พันไหลนองปฐพีเดือดแห่งนั้นไปตลอดทาง 

บาดแผลของแพตตันฉกรรจ์กว่าที่คาด เสนารักษ์รีบส่งตัวเขาต่อไปยังโรงพยาบาลสนามหมายเลข 11 ณ กองบัญชาการกองพลที่ 35 เพื่อผ่าตัดด่วน แต่เมื่อถูกลำเลียงมาถึงกองบัญชาการ สิ่งแรกที่แพตตันทำก็คือทำความเคารพผู้บัญชาการกองพลในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน พร้อมรายงานสถานการณ์การรบละเอียดยิบ อย่างที่บอกไปว่าเขามีสติครบถ้วนตลอดเวลาที่อยู่แนวหน้า สามารถสั่งการผ่านนายสิบ และรับฟังรายงานการเข้าตีโดยตลอด เพียงแค่ไม่ได้ร่วมลุยด้วยเท่านั้น… หรือบางทีการที่เขาถูกยิงอาจเป็นเรื่องเหมาะสมแล้วในความคิดของนายพลร็อคเคนบัค?

หลังการผ่าตัด แพทย์ทหารบอกกับแพตตันว่ากระสุนนัดนี้เฉียดเส้นประสาทสำคัญและเส้นเลือดใหญ่ไปนิดเดียว

9. ได้รับเหรียญกล้าหาญ ปิดฉากสงคราม แต่ผิดหวังที่ต้องออกจากสนามรบ

ไดอารี่แบบแพลนเนอร์บุ๊คปี 1918 ของแพตตันเว้นว่างไปตั้งแต่วันพฤหัสที่ 26 กันยายน และถูกจดบันทึกอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 30 กันยายน ใจความว่า

‘ถูกหามขึ้นรถไฟขนม้า (*รถไฟแบบพ่วงโบกี้ปศุสัตว์) ฝนก็ตกหนัก แต่ที่ทำให้คืนนี้บัดซบยิ่งกว่า ก็คือไอ้ตะแกรงเหล็กเวรตะไล (**เตียงพยาบาล) ให้ตายสิ! เจ็บหลังชะมัด แถมขยับตัวไม่ได้เลย’ 

แต่ว่ายุทธการอาร์กองยังไม่จบ การบุกดำเนินไปกินเวลายาวนานกว่า 47 วัน มีการทุ่มกำลังโจมตีถึง 3 ระลอกแบบไม่มีพัก กระทั่งกองทัพสัมพันธมิตรสามารถยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์รอบเนินเขาป่าอาร์กอง รวมทั้งสามารถควบคุมสถานีรถไฟและเส้นทางคมนาคมทั้งหมดในเมืองซีดานได้ นั่นหมายถึงตัดขาดการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเยอรมันในฝรั่งเศสและแฟลนเดอร์ (ปัจจุบันคือภาคเหนือของประเทศเบลเยี่ยม) โดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เยอรมันจึงตัดสินใจยอมจำนนในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918  ผลการรบในยุทธภูมิมิวส์-อาร์กอง มีทหารอเมริกันและฝรั่งเศสเสียชีวิต สูญหาย และบาดเจ็บมากกว่า 190,000 นาย ฝ่ายเยอรมันสูญเสียมากกว่า 126,000 นาย (ตัวเลขรวมผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย และถูกจับเป็นเชลย) ปืนใหญ่ถูกยึด 874 กระบอก ปืนกลหนักถูกยึด 3,000 กระบอก เป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จ่อปิดฉากสงครามโลกเต็มที… แพตตันซึ่งถูกส่งไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลในเมือง ติดตามข่าวสารการสู้รบอย่างเกาะติด แม้จะรู้สึกยินดีกับข่าวชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าในแต่ละสมรภูมิ แต่ก็ผิดหวังที่สงครามโลกของเขาเองรูดม่านเร็วเกินไป “… ผมจะบอกให้คุณรู้ไว้ ผมอาจต้องเสียก้นไปซีกนึง แต่นั่นไม่มีปัญหาหรอก… สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกแย่จริงๆ คือการต้องพลาดการรบทั้งหมดตลอดยุทธภูมินี้…” แพตตันเขียนจดหมายถึงภรรยาขณะพักพื้นในโรงพยาบาล

วีรกรรมในสมรภูมิอาร์กอง ทำให้จอร์จ แพตตัน ได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ได้รับเหรียญเกียรติยศถึง 2 เหรียญ คือ เหรียญกล้ากลางสมรภูมิ (Distinguished Service Medal) และเหรียญกางเขนสดุดี (Distinguished Service Cross) และจากเหตุการณ์เดียวกันนี้ทำให้เขาได้รับเหรียญกล้าหาญ Purple Heart ในอีก 14 ปีต่อมา  

10. แพตตันเชื่อว่ามหาสงครามครั้งใหม่จะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า

“… สัญญาสันติภาพถูกลงนามแล้ว เมืองล็องกร์ทั้งเมืองเฉลิมฉลองอย่างตื่นเต้น ธงโบกสะบัด ผ้าพันแผลถูกโยนทิ้ง เริ่มเขียนบทกวีชื่อ ‘สันติภาพ’…” บันทึกประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918 หลังทราบข่าวการยอมจำนนของกองทัพเยอรมัน ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองสันติภาพ แต่แพตตันกลับเบื่อหน่ายและยังอาวรณ์ไฟสงครามอยู่ เขาเขียนบทกวีชื่อ “สันติภาพ, 11 กันยายน 1918” บนเตียงพักฟื้นในโรงพยาบาล เนื้อหาเปรียบเปรยบรรยากาศเฉลิมฉลองสันติภาพของผู้คน แต่เขาเองกลับรู้สึกหดหู่ที่ต้องมานอนแซ่วอยู่บนเตียบ บลกลอนยังมีปรัชญาสงครามที่น่าสนใจ เช่น "...พวก Bosch (*เยอรมัน) ที่ผู้คนรู้จัก มันคือสัตว์ร้ายน่ารังเกียจของยุคสมัย... แต่ทหารอย่างเราก็ยังให้เกียรติ Hun (*อัตติลา เดอะฮัน กษัตริย์นักรบผู้โหดเหี้ยมในยุคกลาง) ในฐานะนักรบผู้ยิ่งใหญ่..." ช่วงท้ายของบทกวี แพตตันเหมือนจะปรีดาที่สันติภาพกลับคืนมา แต่ใจหนึ่งก็มีสังหรณ์ว่าสงครามครั้งใหม่จะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า.. และต่อไปนี้คือบันทึกหน้าสุดท้ายในสมุดแพลนเนอร์ 1918 ของจอร์จ แพตตัน...

"วันอังคาร, 31 ธันวาคม

วันสุดท้ายของปีที่เต็มไปด้วยความหมาย ผมหวังว่ามันจะเป็นแค่ครั้งเดียวผมต้องจาก B. (*บีทรีซ แพตตัน ภรรยาของเขา) มาเป็นเวลายาวนานขนาดนี้... วันนี้ทั้งวันหมดไปกับการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสยุค 1814–1914... ผมได้รับจดหมายจากชายฝรั่งเศส (*โจทก์เก่าของแพตตันซักกรณี) เขายังคงกล่าวหาผมเรื่องเดิมๆ แถมขู่ว่าจะไปฟ้องนายพล P. (*น่าจะเป็นนายพลจอห์น เจ เพอร์ซิ่ง) อีกด้วย ขอให้หมอนั่นทำตามคำขู่นะ"

สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงอย่างเป็นทางการในช่วงขึ้นปีใหม่ 1919 แต่จอร์จ แพตตัน ยังคงประจำการที่ฝรั่งเศสต่อไปอีกหลายเดือน ท่ามกลางความเบื่อหน้ายที่ไม่มีภารกิจและความเงียบเหงาที่ต้องส่งลูกน้องกลับบ้านไปทีละชุดสองชุด เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเขียนรายงานจากประสบการณ์ในแนวหน้า ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุทธวิธีรบด้วยรถถัง ในที่ที่สุด กองพลน้อยของแพตตันก็จบสิ้นภารกิจอย่างถาวรในเดือนมีนาคม เขาเดินทางกลับสหรัฐฯ ด้วยเรือรบ SS Patria เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1919 และมาถึงท่าเรือนิวยอร์คในวันที่ 17 มีนาคม 1919

25 ปีต่อมา นายพลจอร์จ เอส แพตตัน เดินทางกลับมาแผ่นดินยุโรปอีกครั้ง พร้อมกองพลรถถังอเมริกันที่ยิ่งใหญ่กว่า และสงครามโลกครั้งใหม่ที่โหดร้ายยิ่งกว่าปี 1918 เป็นทวีคูณ
 

Our Products

Related Posts

Messenger Line