ศัพท์แสงแห่งงานพิมพ์หนังสือ

ศัพท์แสงแห่งงานพิมพ์หนังสือ

Interesting Reads | 26 Nov 2019

6,575 Views

สำหรับคนที่รักหนังสือ เสน่ห์ของมันคือเนื้อกระดาษที่เราได้จับสัมผัส ตัวอักษรที่พิมพ์บนกระดาษโลดแล่นพลิ้วไหวในแต่ละหน้า เนื้อเรื่องที่เชิญชวนให้เราเปิดอ่านอย่างใจจดใจจ่อ ทำให้เราตั้งตารอคอยหนังสือเล่มใหม่บนแผง อดใจไม่ได้ที่จะทยอยซื้อหามาสะสมทีละเล็กทีละน้อย เป็นความสุขที่ได้เห็นหนังสือมาวางเรียงรายอยู่บนชั้น พอว่างก็หยิบกลับมาอ่านอย่างไม่รู้เบื่อ  แม้ว่าปัจจุบันจะมีสื่อออนไลน์เป็นกระแสใหม่ แต่ก็ไม่อาจลบเลือนเสน่ห์ของงานพิมพ์ที่คลาสสิกเหล่านี้ไปได้ 

เช่นเดียวกับทุกวงการ การพิมพ์หนังสือก็มีศัพท์เฉพาะใช้เรียกขาน ที่ผู้อ่านผู้รักหนังสือควรรู้ และทำความเข้าใจ พอจะรู้เบื้องลึกเบื้องหลังในแวดวง เพราะรู้ใช่ว่า...ใส่บ่าแบกหามเสียเมื่อไร

กระดาษ

แกรม (gsm) หน่วยน้ำหนักของกระดาษ ย่อมาจาก Gram per Square Metre หมายความว่า
น้ำหนักของกระดาษที่มีหน่วยเป็นกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร และด้วยความที่กระดาษชนิดหนึ่งๆ เมื่อมีน้ำหนักต่อตารางเมตรมาก ก็ย่อมมีความหนามากไปด้วย จึงใช้น้ำหนักบอกความหนาของกระดาษไปโดยปริยาย แต่ก็อย่าสับสน เมื่อน้ำหนักของกระดาษคนละชนิดเท่ากัน แต่กลับรู้สึกหนาไม่เท่ากัน เช่น หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค พิมพ์ด้วยกระดาษที่มีความโปร่งฟู อย่างกระดาษถนอมสายตา 80 แกรม กลับมีความหนามากกว่านิตยสาร ที่พิมพ์ด้วยกระดาษที่มีความทึบแน่น อย่างกระดาษอาร์ต 105 แกรม
รีม (ream) หน่วยนับจำนวนแผ่นกระดาษ โดยมาตรฐานสากลอยู่ที่ 500 แผ่นเป็น 1 รีม จากแต่เดิมที่โรงงานกระดาษแต่ละแห่ง กำหนดไว้หลากหลายอยู่ที่ 472, 480 หรือ 516 แผ่น
หน้ายก หน่วยนับจำนวนหน้าหนังสือบนกระดาษพิมพ์แผ่นใหญ่,เช่น กระดาษพิมพ์แผ่นใหญ่ 1 ด้าน พิมพ์เป็นหนังสือได้ 8 หน้า ก็เรียกว่า 8 หน้ายก กระดาษพิมพ์แผ่นใหญ่ที่โรงงานกระดาษนิยมตัดมี 2 ขนาด คือ 31” X 43” กับ 24” X 35” จึงทำให้ขนาดรูปเล่มหนังสือ 8 หน้ายก จากกระดาษพิมพ์แผ่นใหญ่อาจมีขนาดไม่เท่ากัน จึงเพิ่มคำว่า “หน้ายกธรรมดา” สำหรับกระดาษขนาด 31” X 43” และ “หน้ายกพิเศษ” สำหรับกระดาษขนาด 24” X 35” เข้ามากำกับ ทั้งนี้กระดาษขนาด 31” X 43” จะต้องถูกตัดแบ่งครึ่งก่อนเป็นขนาด 21 1/2” X 31” จึงจะเข้าแท่นพิมพ์ออฟเซ็ทได้ เมื่อพับเข้าเล่มและตัดเจียนจนเป็นหนังสือเสร็จสรรพแล้ว ขนาด 8 หน้ายกธรรมดา จะมีขนาด 18.4 X 26 ซม. ส่วนขนาด 8 หน้ายกพิเศษ จะมีขนาด 21 X 29.2 ซม. (เป็นขนาดโดยประมาณเนื่องจากการตัดเจียนของหนังสือแต่ละเล่มอาจจะไม่เท่ากัน และนิยมวัดหน่วยรูปเล่มเป็นเซนติเมตร)
ยก หน่วยนับจำนวนของหน้ากระดาษพิมพ์แผ่นใหญ่ เช่น กระดาษพิมพ์ขนาด 21 ½” X 31” พิมพ์ 1 หน้า (1 ด้าน),เรียกว่า 1 ยก ถ้าพิมพ์ 2 หน้า (2 ด้าน คือด้านหน้าและด้านหลัง) เรียกว่า 2 ยก ดังนั้นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค ขนาด 16 หน้ายกธรรมดา หนา 160 หน้า ภาษางานพิมพ์ก็จะเรียกว่า หนังสือเล่มนั้นมี 10 ยก เป็นต้น
ใบพาดปก บางครั้งก็เรียกว่า ใบปลิวติดปก ใช้ในงานเข้าเล่มหนังสือปกแข็ง หรือเข้าเล่มแบบเย็บกี่ โดยนิยมทำเป็น
กระดาษหนาและพิมพ์สีหรือลวดลายแตกต่างจากเนื้อใน ซึ่งด้านหนึ่งของกระดาษทั้งแผ่นยึดติดกับปก และอีกด้านหนึ่งเชื่อมต่อกับเนื้อใน



เทคนิคการพิมพ์

ระยะตัดตก (bleed) ระยะที่ให้ภาพหรือลวดลายสีพื้นเกินจากขอบรูปเล่มหนังสือ เพื่อความมั่นใจว่างานพิมพ์หน้าหนังสือแต่ละหน้าเมื่อตัดเจียนเป็นรูปเล่มแล้ว ภาพหรือลวดลายสีพื้นจะถูกตัดได้ดี ไม่มีความคลาดเคลื่อนที่ทำให้เห็นขอบขาวของกระดาษภายหลังจากการพับเก็บเล่ม
โดยปรกติจะเว้นระยะตัดตกจากขอบ 3 มิลลิเมตร
แม่พิมพ์ออฟเซ็ท
(plate)
การทำแม่พิมพ์จากอาร์ตเวิร์คในระบบงานพิมพ์ออฟเซ็ท เตรียมไว้ใช้เป็นแบบสำหรับพิมพ์ลงบนกระดาษพิมพ์แผ่นใหญ่
กลับนอก วิธีพิมพ์ลงบนกระดาษพิมพ์แผ่นใหญ่โดยใช้เพลท 2 ชุด พิมพ์ด้านหน้าหนึ่งชุด พิมพ์ด้านหลังอีกหนึ่งชุด
กลับในตัว วิธีพิมพ์ลงบนกระดาษพิมพ์แผ่นใหญ่ที่ใช้เพลทชุดเดียวกัน 1 ชุด พิมพ์ด้านหน้าแล้วกลับกระดาษพิมพ์ด้านหลัง วิธีนี้ทำให้กระดาษพิมพ์ 1 แผ่นนั้น เมื่อตัดแบ่งครึ่งหนึ่ง จะได้งาน 2 ชุดที่เหมือนกัน จึงมักใช้เมื่อจำนวนหน้าไม่ลงตัวตามหน้ายก เช่น มีเศษ ½ ยก หรือ ¼ ยก เป็นต้น
เคลือบเงา การเคลือบภายหลังงานพิมพ์ให้มีความสะท้อนเงา เช่น เคลือบด้วยวัสดุพีวีซีชนิดสะท้อนแสง เรียกว่าเคลือบพีวีซีเงา เป็นการเคลือบด้วยฟิล์มพีวีซีผิวมันวาว ให้ความเรียบและเงาสูง ถ้าเคลือบด้วยน้ำยาชักเงาผ่านรังสียูวี เรียกว่า เคลือบยูวีเงา
เคลือบด้าน การเคลือบภายหลังงานพิมพ์ให้มีความด้าน สะท้อนแสงน้อย เช่น เคลือบด้วยวัสดุพีวีซีชนิดไม่สะท้อนแสง เรียกว่า เคลือบพีวีซีด้าน เป็นการเคลือบด้วยฟิล์มพีวีซีผิวด้านคล้ายกับเคลือบด้วยกระจกฝ้าแต่ยังมองเห็นงานพิมพ์ชัดเจน ถ้าเคลือบด้วยน้ำยาเคมีไม่สะท้อนแสงผ่านรังสียูวี เรียกว่า เคลือบยูวีด้าน
เคลือบเงาเฉพาะจุด นิยมเรียกชื่อเล่นว่า สปอตยูวี (Spot UV) เป็นการพิมพ์น้ำยาเคลือบเงาเฉพาะบางจุดหรือบางส่วนของงานพิมพ์ที่ต้องการเน้นให้ดูโดดเด่น แล้วผ่านรังสียูวี ทำให้ส่วนที่พิมพ์น้ำยาไว้เงาขึ้นมา
พิมพ์ออฟเซ็ท (offset) ระบบการพิมพ์ที่ใช้หลักเคมีเรื่องน้ำกับน้ำมันจะไม่รวมตัวกัน แม่พิมพ์ออฟเซ็ทจะผ่านน้ำ แล้วถ่ายทอดหมึกพิมพ์ (น้ำมัน) ที่เกาะติดภาพหรือตัวอักษรจากส่วนที่เคลือบเคมีไว้ ลงบนผ้ายาง แล้วหมึกพิมพ์บนผ้ายางถ่ายทอดลงกระดาษ ระบบนี้จะต้องปรับจูนการปล่อยหมึก และวิ่งแท่นพิมพ์ให้สีพิมพ์มีความเสถียร อีกทั้งต้องใช้แม่พิมพ์ จึงมักใช้กับงานพิมพ์หนังสือคราวละจำนวนมาก
พิมพ์ดิจิทัล (digital) ระบบการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์เทคโนโลยีดิจิทัล คือถ่ายทอดคำสั่งจากเครื่องควบคุมคอมพิวเตอร์ไปยังเครื่องพิมพ์โดยตรง จึงไม่ต้องใช้แม่พิมพ์ นิยมใช้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแบบและสีสันก่อนพิมพ์ออฟเซ็ท สีที่ได้พอใกล้เคียงกับระบบพิมพ์ออฟเซ็ท พิมพ์งานได้รวดเร็วราวกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ จึงเหมาะสำหรับการพิมพ์งานจำนวนน้อย สั่งพิมพ์ได้ตามจำนวนที่ต้องการ จึงเรียกว่า Print on Demand ได้อีกอย่างหนึ่ง
ปั๊มนูน (embossing) วิธีพิมพ์ให้เกิดรูปแบบรอยนูนบนกระดาษโดยแรงอัดกดทับกระดาษตามแบบแม่พิมพ์ บล็อกแม่พิมพ์มี 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นแบบนูน อีกชิ้นหนึ่งเป็นเบ้าลึก
ปั๊มจม (debossing) วิธีพิมพ์ให้เกิดรูปแบบจมลึกลงในกระดาษโดยแรงอัดกดทับกระดาษตามแบบของแม่พิมพ์ แม่พิมพ์มี 2 ชิ้น แต่จะสลับกับแม่พิมพ์ปั๊มนูนคือ ชิ้นหนึ่งเป็นเบ้าลึก อีกชิ้นหนึ่งเป็นแบบนูน เวลาพิมพ์ต้องวางกระดาษให้ถูกกับด้านจมที่ต้องการ
ปั๊มฟอยล์ วิธีพิมพ์โดยการทำให้แม่พิมพ์มีความร้อนกดรีดแผ่นฟอยล์ไปติดเรียบบนวัสดุ เช่น กระดาษ พลาสติก หรือผ้า เป็นต้น แผ่นฟอยล์มีหลากสี และหลายรูปแบบการสะท้อนแสง สร้างความหรูหราให้งานพิมพ์มีความสวยงาม ดึงดูดความสนใจ

Our Products

Related Posts

Messenger Line