10 เรื่อง (ไม่) ลับ ที่ (เกือบ) ถูกลืม ของนายพลแพตตัน (ตอน 1)

10 เรื่อง (ไม่) ลับ ที่ (เกือบ) ถูกลืม ของนายพลแพตตัน (ตอน 1)

Interesting Reads | 23 Nov 2019

4,833 Views

บรรทัดหนึ่งจากสมุดไดอารี่ ฤดูหนาวปี 1944 ระหว่างกำลังติดอยู่ในวงล้อมรถถังนาซีกลางสมรภูมิ BATTLE OF THE BULGE นายพลจอร์จเอสแพตตัน บรรยายความรู้สึกลงไปว่า

“ช่วงเวลาฉิบหายบรรลัยจักรเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าหวนนึกถึง…. (ข้อความขาดหายไป) …ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่าผลลัพธ์ของมันจะไม่ต่างไปจากเดิม”

ภาพยนตร์และหนังสือส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับนายพลแพตตัน มักจะสดุดีวีรกรรมของเขาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุผลที่มัน “ขายได้” นักเขียนหลายๆ คนตั้งแต่นักวิชาการชั้นศาสตราจารย์ไปจนถึงนักประพันธ์ริมคลองหลอดจึงนิยมเลือกหยิบจับเอาไดอารี่ของแพตตันช่วงปี 1943-1945 มาเป็นวัตถุดิบ จนหลายคน (เกือบ) ลืมไปว่าแพตตันเป็นหนึ่งในนักรบที่รบมาแล้วทั้ง 2 สงครามโลก 

เราจะย้อนกลับไปค้นหาข้อความที่ขาดหายไป กับ 10 เรื่อง (ไม่) ลับ ที่ (เกือบ) ถูกลืม ของนายพลกระดูกเหล็ก จอร์จเอสแพตตัน จาก scrapbook ปี 1918 บันทึกที่เขียนท่ามกลางห่าลูกปืนกลเยอรมันในสนามเพลาะ Meuse-Argonne สงครามโลกครั้งที่ 1 สมรภูมิแรกที่ทำให้แพตตันได้เหรียญ Purple Heart มาพร้อมกับฉายา “Old Blood and Guts”


1. War Diary ของจอร์จ แพตตัน ถือเป็นสมบัติของชาติ

“ยิ่งมีคนได้เห็นสงครามมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งเป็นเรื่องดีแน่นอน นี่เป็นกิจกรรมที่ต้องมีคนตายแต่พวกเราก็เต็มใจเพราะมันคุ้มค่า…”

จอร์จ เอส แพตตัน เขียนข้อความนี้ในจดหมายที่ส่งถึงเพื่อน เมื่อเดินทางมาถึงยุโรปในวันที่ 13 มิถุนายน ปี 1917 และตลอด 2 ปีที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากบ่มเพาะให้แพตตันเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่จนเป็นยอดแม่ทัพในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว เขายังทำให้ผู้คนได้เห็นภาพจากสงครามจริงดั่งที่เขียนไว้


สแครปบุ๊คและไดอารี่แบบสมุดแพลนเนอร์ปี 1918 ของนายพลจอร์จ เอส แพตตัน (เครดิต: Linda Davidson/The Washington Post)


พันโทจอร์จ เอส แพตตัน และรถถัง Renault FT, ฝรั่งเศส, ปี 1918 (เครดิต: Wikipedia)


บันทึกจากแนวรบ หรือ ‘War Diary’ ของจอร์จ แพตตัน คือบันทึกชีวิตการเป็นทหารรับใช้ชาติตั้งแต่ปี 1910 – 1945 โดยเฉพาะบันทึกในช่วงที่สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี 1917-1918 นั้นนับว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของนักวิชาการทหาร ประเทศชาติ และชนรุ่นหลังทั่วโลก บันทึกของแพตตันถูกรวบรวมไว้เป็นบ็อกเซ็ต ประกอบด้วย ไดอารี่แบบสมุดแพลนเนอร์ จดหมายถึงครอบครัวและเพื่อนฝูง สแครปบุ๊คที่เก็บรวบรวมภาพถ่ายจากแนวหน้า แผนที่ รายงาน และเอกสารทางทหารในแต่ละช่วงเวลา ทั้งหมดอยู่ในสภาพสมบูรณ์อย่างเหลือเชื่อ รัฐสภาสหรัฐฯ เก็บรักษาบันทึกชุดนี้ไว้ ณ หอสมุดสภาคองเกรส กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้นำออกจัดแสดงในนิทรรศการ “เสียงสะท้อนจากมหาสงคราม : ประสบการณ์ของอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 1” เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีที่สหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 (มหาสงคราม) ‘War Diary’ ของจอร์จ แพตตัน ได้จัดแสดงร่วมกับสื่อสารสนเทศของกองทัพ และเอกสารบันทึกส่วนตัวของบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายๆ คน รวมถึงบันทึกของนายพลจอห์น เจ เพอร์ชิ่ง ผู้บัญชาการกองกำลังรบนอกประเทศอเมริกา (AEF) ผู้บังคับบัญชาที่ชักนำแพตตันเข้าสู่สมรภูมิ

ปัจจุบัน หอสมุดสภาคองเกรสได้เผยแพร่ War Diary ดังกล่าวในรูปแบบไฟล์ดิจิตอลให้สามารถดาวน์โหลดกันได้อีกด้วย  

2. แพตตันเข้าร่วมเหล่าทหารรถถังแบบไม่เต็มใจ

เพราะเป็นทหารม้าที่ถูกฝึกมาให้รบบนหลังม้า เมื่อร้อยเอกจอร์จ แพตตัน รู้แน่ชัดแล้วว่าสงครามครั้งนี้ นายพลจอห์น เจ เพอร์ชิ่ง วางอนาคตให้เขาเติบโตจากนายทหารประจำสำนักงานผู้บัญชาการฯ ขยับขึ้นไปเป็นทหารหน่วยรบสังกัดเหล่ารถถัง ดูเหมือนว่าแพตตันจะไม่ค่อยเต็มใจสักเท่าไหร่…

“รถถังน่ะเหรอ… ไม่เข้าท่าเลย… แต่ก็ช่างมันเถอะ ให้ผมเป็นอะไรหรือทำอะไรก็ได้ ขอแค่ได้กลับไปแนวรบอีกครั้ง และผมจะพยายามเต็มที่เพื่อให้ทันฤดูใบไม้ผลิ แต่ไอ้พวกฝรั่งเศสนี่มันกวนใจชะมัด พับผ่า มันคอยวุ่นวายกับเราแต่เรื่องรายละเอียดที่น่าปวดหัว ช่วงนี้ผมเลยต้องใช้ความอดทนอย่างมาก…” แพตตันเขียนบันทึกช่วงแรกของการเรียนรู้การใช้รถถัง Renault FT ของฝรั่งเศส หรือ ‘รถถังเบา’ ซึ่งคล่องตัวในสนามเพลาะมากกว่า ‘รถถังหนัก’ Mark VI ที่ผลิตในอังกฤษ นอกจากนั้นเขายังเขียนจดหมายบ่นให้ภรรยาฟังว่าการเป็นทหารเหล่ารถถังไม่น่าจะทำให้เขาเติบโตได้เหมือนเพื่อนนายร้อยเวสปอยต์คนอื่นๆ “ที่นี่คุยกันแต่เรื่องรถถังทั้งวัน ส่วนเรื่องที่ผมสนใจจริงๆ ก็คือผมมองไม่เห็นอนาคตในหน้าที่การงานเลย… จำนวนทหารที่ตายคารถถังมีสูงมาก มีรถถังถูกข้าศึกยิงทำลายทิ้งในแนวหน้าอยู่เป็นกอง แต่คนที่นี่ก็ยังคิดว่าถ้าต้องออกรบ อยู่ในรถถังคงจะปลอดภัยกว่า…” แต่ก็ด้วยวินัยทหารเคร่งครัด แพตตันยอมเดินตามเส้นทางที่เจ้านายวางอนาคตไว้ให้ เดือนตุลาคมปี 1917 เขาสมัครเข้าสังกัดกรมการทหารรถถัง (ต่อมาจัดตั้งเป็นหน่วยบัญชาการทหารรถถังแห่ง AEF) ระหว่างรอการตอบรับ แพตตันตั้งใจเรียนรู้เกี่ยวกับรถถังจนแนวคิดของเขาเริ่มเปลี่ยนไป

วันที่ 10 พฤศจิกายน 1917 เขาได้จดหมายตอบรับจากผู้พันลีรอย เอลทิงเก้ ผู้บังคับการกรมฯ  แพตตันเขียนบันทึกไว้ว่า

“วันนี้เป็นวันสุดท้ายของข้าพเจ้าในฐานะนายทหารประจำสำนักงานฯ อนาคตข้างหน้าจะรุ่งหรือร่วง ขึ้นอยู่กับมือของข้าพเจ้าเอง”


กองพันรถถังเบา, ภาพถ่ายจากสแครปบุ๊คปี 1918 ของนายพลแพตตัน (เครดิต: Library of Congress)


3. แพตตัน กับ แม็คอาเธอร์ เคยรบในยุทธภูมิเดียวกัน

จอร์จ แพตตัน ผู้กำราบรถถังนาซี และ ดักลาส แม็คอาร์เธอร์ ผู้พิชิตราชนาวีญี่ปุ่น ทั้งคู่เคยร่วมรบยุทธภูมิเดียวกันมาแล้ว เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว… 

“ผมได้พบกับท่านผู้บัญชาการกองพลน้อย นายพลแม็คอาเธอร์ ท่านกำลังเดินสำรวจแนวรบอยู่ ผมเลยเดินขึ้นไปหาท่าน สะเก็ดลูกปืนใหญ่ปลิวว่อนไปหมด เชื่อว่าทั้งตัวท่านและผมเองก็อยากจะหลบเข้าที่กำบัง แต่ก็นั่นล่ะ ไม่มีใครยอมเอ่ยปาก… เราจึงปล่อยให้มันลอยข้ามหัวไปแบบนั้น สุดท้ายเราตัดสินใจนั่งลงสนทนากัน ซึ่งสาระสำคัญของการพูดคุยก็หามีไม่ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่สนใจจะฟัง เสียงปืนใหญ่มันดังกระหึ่มอยู่อย่างนั้นใครจะไปฟังอะไรรู้เรื่องได้เล่า…”

ข้อความช่วงหนึ่งในจดหมายยาว 6 หน้าที่แพตตันเขียนถึงภรรยา 4 วันหลังการรุกที่เซ้นต์-ไมไฮล์ และแพตตันยังเขียนจดหมายเล่าเรื่องแม็คอาเธอร์ถึงคุณพ่อของเขาอีกรอบหนึ่ง แสดงถึงความชื่นชมอย่างยิ่งในตัวนายทหารรุ่นพี่คนนี้

“…ผมเคยคิดว่านอกจากผมแล้วคงไม่มีนายทหารระดับ ผบ. คนไหนจะมาเดินท่อมๆ ในแนวหน้าแบบนี้ แต่ยกเว้นท่านนายพลแม็คอาเธอร์ ท่านเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบเดินล่อลูกปืนข้าศึกเหมือนผม…” 


ภาพวาด “เปิดฉากยุทธภูมิเซ้นต์-ไมไฮล์” โดย ลูเซียน เฮ็คเตอร์ โจนาส, ปี 1927 (เครดิต: “Wikipedia)

แพตตันเป็นรุ่นน้องแม็คอาเธอร์ทั้งที่โรงเรียนนายร้อยเวสปอยต์และในกองทัพ แต่ไม่เคยเจอกันมาก่อน เมื่อสหรัฐฯ เข้าสู่มหาสงคราม แพตตันวัย 32 ขวบเดินทางมาในฐานะนายทหารประจำสำนักงานของนายพลจอห์น เจ เพอร์ชิ่ง และเริ่มงานสงครามด้วยการเป็น ผอ. โรงเรียนศูนย์การทหารรถถัง ส่วนแม็คอาเธอร์แก่กว่าแพตตัน 6 ปี พลจัตวาสายเลือดทหารเรือถูกบ่มเพาะการเป็นนักรบชั้นสูงจากกองพลที่ 42 (“Rainbow” Division) อันโด่งดัง เมื่อมาถึงฝรั่งเศสก็ใช้ชีวิตในแนวรบมากกว่าแคมป์ฝึก นั่นยิ่งทำให้ 2 คนนี้มีเส้นทางคลาดกันมาตลอด กระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน 1918 มีการจัดตั้ง ‘กองทัพสหรัฐฯ ที่ 1’ ขึ้นเป็นครั้งแรกที่แนวรบด้านตะวันตกใกล้สันเขาเมืองเซ้นต์-ไมไฮล์ เพื่อรวมพลเข้าตีครั้งใหญ่ที่เรียกว่ายุทธภูมิเซ้นต์-ไมไฮล์ (Battle of St. Mihiel) 2 ว่าที่ตำนานนักรบจึงได้โคจรมาพบกัน 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 1918 ขณะที่กองพันรถถังที่ 327 (ต่อมาจัดตั้งเป็นกองพันรถถังที่ 344 และ 355) ภายใต้บัญชาการของแพตตัน มุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อรุกเข้าเมืองเอสเซย์ และได้พบกับกองพลน้อยของแม็คอาเธอร์ที่เคลื่อนพลผ่านป่าซอนนาร์ดมา จุดที่ทั้งคู่พบกันเป็นเนินเขาลูกเล็กๆ ใกล้ไร่ปศุสัตว์ แพตตันมองเห็นแม็คอาเธอร์ยืนคาบไปป์เด่นเป็นสง่า ขณะที่ปืนใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังระดมยิงใส่กัน และทหารคนอื่นๆ วิ่งหาที่หลบจ้าละหวั่น… 


ภาพถ่ายจากยุทธภูมิเซ็นต์-ไมไฮล์ ทหารช่างอเมริกันกำลังกลับฐานบัญชาการ (เครดิต:Wikipedia)


4. ศึกแรกของแพตตันในสงครามโลก คือต้นตำรับวัน D-Day

“เรามีผลการรบที่น่าพอใจทีเดียว ผิดคาดนิดหน่อยที่ผมไม่ค่อยตื่นสนามรบมากนัก งานนี้ไม่เหมือนที่เม็กซิโก (*การปราบกองโจรปานโช่ วิลล่า ปี 1916) เพราะว่ามันเป็นปฏิบัติการใหญ่ พวกเรารวมพลกันเป็นกองกำลังผสมขนาดมหึมา แม้ว่าตอนที่กระสุนปืนใหญ่นัดแรกเปิดฉากยิง ผมจะกังวลอยู่บ้างว่าหัวกบาลของผมมันจะอยู่ชิดแนวป้องกันดีหรือเปล่า? เหมือนเราอาบน้ำเย็น โดนน้ำครั้งแรกมันจะเย็นวาบไปถึงไขสันหลัง แต่พออาบไปเรื่อยๆ มันก็ชินไปเอง… เป็นความจริง เพราะหลังจากนั้น ผมก็ไม่เคยหลบอยู่หลังแนวป้องกันอีกเลย…”

จดหมายจากแนวรบด้านตะวันตกที่แพตตันเขียนถึงบิดา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 1918 นับได้ 5 วันหลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรพิชิตศึกเซ้นต์-ไมไฮล์

ยุทธภูมิเซ้นต์-ไมไฮล์ (Battle of St. Mihiel) เกิดขึ้นช่วงวันที่ 12-15 กันยายน 1918 เป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ครั้งแรกของกองกำลังรบนอกประเทศอเมริกา (AEF) ทหารอเมริกัน 550,000 นาย สนธิกับทหารฝรั่งเศส 110,000 นาย ทุ่มกำลังเข้าตีฐานทหารเยอรมันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส ชัยชนะในยุทธภูมินี้เป็นประตูสู่การปลดปล่อยฝรั่งเศสจากการอิทธิพลของจักรวรรดิเยอรมันนับตั้งแต่ปี 1914 และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงต้นปี 1919 ดังนั้น นักประวัติศาสตร์จึงมักเปรียบเทียบยุทธภูมิเซ้นต์-ไมไฮล์ ว่าเป็นต้นตำรับของวัน D-Day ในสงครามโลกครั้งที่ 2 

ประสบการณ์ออกรบครั้งแรกในสงครามโลกครั้งแรกเริ่มเมื่อเวลา 9.55 น. พันโทแพตตัน ผบ. ป้ายแดงของกองพลน้อยรถถังที่ 304  เดินเท้านำหน้าขบวนรถถังราวกับนายสิบคนหนึ่ง รถถัง Renault FT ของฝรั่งเศสขับโดยพลขับอเมริกันเคลื่อนพลได้รวดเร็วกว่าที่คาด ภายในวันเดียวก็สามารถควบคุมเมืองเซ้นต์บอสแซนท์ได้ จากนั้นเข้าสมทบกับกองพลน้อยที่ 84 ของนายพลแม็คอาร์เธอร์บนเนินเขาชายป่าซอนนาร์ด ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่อึ่งมี่ไปทั้งหุบเขา แพตตันรุกต่อไปด้วยวิธีเดินเท้าสลับนั่งบนรถถัง เมื่อเข้าถึงเมืองเอสเซย์ ที่นั่นเขาได้พบกับกองร้อยทหารราบอเมริกันที่ไม่ยอมรุกข้ามสะพานไปสู่เมืองถัดไปเพราะกลัวจะเป็นกับดักของทหารเยอรมัน แพตตันบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

“ผมโคตรอยากจะบ้ากับความปอดแหกของพวกมัน ผมเลยบอกให้พวกมันเดินข้ามสะพานตามผมมา ซึ่งก็ไม่เห็นว่าจะมีไอ้พวก Bosch (ทหารเยอรมัน) ซักคน…”

เมื่อข้ามสะพานมาได้ ปรากฏเหตุให้แพตตันต้องพลัดกับกองพันรถถังและถูกทิ้งไว้กลางแนวรบเปิดที่ไม่มีกำบัง เขาต้องใช้ยุทธวิธีทหารราบ นำทหาร 600 นายฝ่าพลปืนกลเยอรมันที่ดักซุ่มโจมตีอยู่

“… ผมต้องคอยเงี่ยหูฟังเสียงปืนกลเอ็มจีของข้าศึกว่ามาจากทิศทางไหน พอมันดังขึ้นมาชุดหนึ่งผมก็หมอบแล้วยิงโต้ไปเป็นระยะ หลายครั้งก็ยิงถูกข้าศึก ถ้าผมสามารถคำนวณความเร็วเสียงและทิศทางกระสุนถูกต้อง…”

เมื่อฝ่าแนวปืนกลออกมา แพตตันนำทหารรถถังสนธิกำลังกับทหารราบบุกเข้ายึดเมืองเบนีย์ได้สำเร็จในค่ำวันนั้น เขาเริ่มมองหาอาหารมื้อแรกของวัน พบว่ากระสอบเสบียงในค่ายเยอรมันถูกยัดหินเอาไว้แทนขนมปัง แคร็กเกอร์ที่ค้นเจอจากศพทหารเยอรมันจึงกลายเป็นมื้อค่ำแสนอร่อยไป วันรุ่งขึ้นแพตตันเคลื่อนกำลังต่อไปทางทิศเหนือ จนวันที่ 14 กันยายน ก็สามารถผลักดันทหารเยอรมันให้สละเมืองยอนวิลล์ได้สำเร็จ เป็นอันจบภารกิจยุทธภูมิเซ้นต์-ไมไฮล์ ในส่วนของเขา

“ทหารรถถังอเมริกันห้ามยอมแพ้เด็ดขาด พวกเราต้องบุกไปข้างหน้าเสมอตราบใดที่รถถังยังเคลื่อนที่ได้ไม่ว่าจะด้วยล้อตีนตะขาบหรือใช้แรงคนเข็น เราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการมาถึงของทหารรถถังจะช่วยปกป้องชีวิตทหารราบและฆ่าทหารเยอรมันได้เป็นจำนวนมาก ที่สุดแล้ว นี่คือโอกาสก่อวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของเรา จงทำให้มันคุ้มค่า!”

บันทึกสุนทรพจน์ที่แพตตันได้ร่างไว้เมื่อครั้งกำลังจะนำผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าสู่สมรภูมิ ‘ต้นตำรับวัน D Day’

5. แพตตันไม่ลงรอยกับ ‘บิดาแห่งเหล่าทหารรถถังสหรัฐฯ’

“ผู้พันร็อคเคนบัค เป็นพวกคร่ำครึที่สุดเท่าที่ผมเคยร่วมงานด้วย… ทันทีที่คุณเสนอแนะอะไรที่เขาไม่เห็นด้วยล่ะก็ การถกเถียงเป็นชั่วโมงจะบังเกิด ซึ่งมันก็ไม่มีมรรคผลอันใดเลยเพราะสุดท้ายความเห็นของเขาจะถูกเสมอ ดังนั้นต่อไปผมจะไม่เสียเวลาเถียงอีกแต่จะหาทางปฏิบัติด้วยแนวทางของผมเอง จะว่าไปเขาก็มีข้อดีอยู่บ้าง นั่นคือทำให้ผมได้เคร่งครัดในวินัย และรู้จักการควบคุมอารมณ์” บันทึกส่วนตัวในช่วงที่แพตตันเริ่มอยู่ใต้บังคับบัญชาของพันเอกซามูเอล ดี ร็อคเคนบัค หลังจากมีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการทหารรถถังสหรัฐฯ แห่ง AEF เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1917 ซึ่งนายพลจอห์น เจ เพอร์ชิ่ง แต่งตั้งให้ร็อคเคนบัคเป็นผู้บัญชาการคนแรก แม้ว่าจะเป็นเหล่ารบเฉพาะกิจ แต่เนื่องจากเวลานั้นสหรัฐฯ ไม่เคยทำสงครามด้วยรถถังมาก่อน ร็อคเคนบัคจึงถูกยกว่าเป็นผู้ให้กำเนิดเหล่าทหารรถถังอเมริกันไปโดยปริยาย

ผลการรบในยุทธภูมิเซ้นต์-ไมไฮล์ ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถจับเชลยศึกเยอรมันได้ 16,000 นาย ยึดปืนได้ 450 กระบอก แพตตันได้รับรายงานว่าข้าศึกเสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายมากกว่า 7,000 นาย สูญเสียกำลังพลอเมริกัน 200-300 นาย (ในข้อเท็จจริงตัวเลขสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่ายมากกว่านี้เป็น 2 เท่า) ในส่วนของหน่วยบัญชาการทหารรถถัง มีรถถังเบาเข้าร่วมภารกิจ 174 คัน (144 คันมาจากกองพลน้อยรถถังที่ 304 ของแพตตัน) ถูกทำลายไป 3 คัน ถูกทิ้งอยู่ในหล่มสนามเพลาะ 22 คัน และเสียหายหนัก 14 คัน กำลังพลเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 19 นาย… แพตตันค่อนข้างโอเคกับผลงานการรบครั้งแรกในชีวิต อย่างไรก็ดี ร็อคเคนบัคกลับไม่ค่อยพอใจนัก เขาสรุปข้อบกพร่องใหญ่ๆ ของลูกน้องจอมห้าวไว้ 3 ข้อ 1. แพตตันควรจัดกำลังรถถังเบาให้เป็นหมู่ หมู่ละ 5 คัน ไม่ควรปล่อยให้แตกขบวนกัน 2. ในฐานะผู้บัญชาการกองพล เขาควรอยู่ในพื้นที่บัญชาการและเอาใจใส่กับการสื่อสาร มากกว่าการออกไปลุยอยู่แนวหน้า และ 3. แพตตันควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีของทหารม้ายานเกราะ โดยการให้กำลังพลต่อสู้ด้วยรถถัง ไม่ใช่สู้แบบทหารราบ

ร็อคเคนบัคอายุมากกว่าแพตตันถึง 22 ปี เขาจบจากสถาบันการทหารเวอร์จิเนีย จึงเป็นทหารแนวโอลด์สคูลที่เคร่งครัดวินัยโฮกๆ ไม่เคยพูดเล่นหัวกับลูกน้อง ไม่มีอารมณ์ขัน และไม่เคยตัดสินใจด้วยสัญชาติญาณเหมือนแพตตัน แนวทางที่เขาเลือกล้วนต้องยึดมั่นในกฏระเบียบ แบบแผน และวินัยทหารเท่านั้น!


พลปืนกลอเมริกัน กรมทหารราบที่ 23, ยุทธภูมิมิวส์-อาร์กอง (เครดิต:Wikipedia)


Our Products

Related Posts

Messenger Line