หนังสืออัตชีวประวัติและประวัติบุคคล-สถานที่ ระดับเบสเซลเลอร์หลายๆ เล่ม ใช้สมุดบันทึกส่วนตัวเป็นสารตั้งต้น ข้อนี้ไม่ต้องบอกทุกท่านก็คงทราบแก่ใจอยู่แล้ว…แต่สัจธรรมอันถ่องแท้แห่งโลกน้ำหมึกก็คือท่านจะต้องเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดังเสียก่อน ไม่ว่าทางดีหรือเลว บวกหรือลบ ซ้ายจัดหรือขวาจัด… บันทึกส่วนตัวของท่านจึงจะสามารถมีค่าในเชิงพาณิชย์ได้
แล้วไปหากท่านเป็นคนดังอยู่แล้วหรือกำลังจะดังในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า แต่ถ้าแนวโน้มดูไม่เป็นอย่างนั้น… ข่าวดีก็คือ ถึงกิจกรรมการจดบันทึกจะไม่สร้างรายได้ให้ราษฎรโลว์โพรไฟล์เช่นท่าน ท่าน และท่าน ใช่ ท่านนั่นแหละ ไม่ต้องหันไปมองใคร… กระนั้น สมุดบันทึก แพลนเนอร์ สแครปบุ๊ค ที่ท่านใช้งานในชีวิตประจำวันมันก็ยังมีประโยชน์ต่อสังคมอยู่นา ไม่คิดบ้างหรือว่า ‘หนังสือที่ระลึกงานศพ’ จะเฟี้ยวเงาะแค่ไหน หากเรียบเรียงจากบันทึกส่วนตัวโดยเจ้าของงานซึ่งบัดนี้นอนรอกริ่งประชุมเพลิงอยู่บนเมรุ…
กราบขออภัยทุกท่านที่เข้าใจว่าผู้เขียนกำลังแช่งชักให้ท่านเกิดวิตกอัปมงคล ตรงกันข้าม… นอกจากมิได้มีเจตนาเช่นนั้น ผู้เขียนยังกำลังอวยชัยให้พรท่านทั้งหลายให้อายุมั่นขวัญยืน มีชีวิตยืนยาวได้อยู่ดูถ่ายทอดสดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปอีกหลายสมัย เพราะเรื่องที่กำลังจะกราบเรียนนี้ หมายให้ท่านได้เพลิดเพลินกับการเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไปอีกนานๆ ซึ่งกว่าจะถึงวาระที่ต้องเซย์กู๊ดบายโลกนี้ไป ก็คงจะได้หนังสือที่ ‘ระทึก’ ดีๆ สักเล่มไว้แจกจ่ายญาติมิตรเพื่อนฝูงไว้อ่านกันพอให้คลายอาลัย ถ้ายึดคติที่ว่า “นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา” รับรองว่าของแบบนี้ดีกว่าแจกยาดมแน่นอน (แม้บางคนจะอยากได้ยาดมมากกว่า)
โอกาสนี้ ผู้เขียนจึงขออนุญาตแสดงกรณีศึกษาแนวทางการเขียนหรือการเรียบเรียงบันทึกเพื่อจุดประสงค์เผยแพร่ต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะในวาระฉลองวันเกิดครบรอบกี่ขวบๆ ก็ตาม แซยิด ปีใหม่ สาทรไทย-จีน-ฝรั่ง-แขก เกษียณอายุ ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานโต๊ะจีน-โต๊ะแชร์ เปิดกิจการ ปิดกิจการ หรือไว้สำหรับเผยแพร่เชิงพาณิชย์กรณีที่ท่านเกิดมีชื่อเสียงขึ้นมา ไปจนถึงเตรียมการไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นหนังสือที่ระลึกงานปัจฉิมฯ ตัวเองจากโลก ดังเหตุผลที่ได้เรียนไว้ข้างต้น…
แนวทางที่ 1: ชันสูตรโครงกระดูกในตู้ กรณีศึกษา : “โครงกระดูกในตู้”,
2514 – ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
“… ในกระบวนท่านลุงท่านป้าบุตรคุณย่านี้ มีท่านป้าฉวีวาดเป็นโครงกระดูกในตู้โดยแท้ เพราะเรื่องราวของท่านถูกปิดบังซุบซิบกันมานานไม่ให้ลูกหลานได้รู้ ที่ผู้เขียนเรื่องนี้บังเอิญรู้โดยละเอียด ก็เพราะสมัยหนึ่งที่ท่านป้าฉวีวาดชรามากแล้ว ท่านเกิดโปรดปรานหลานคนนี้ขึ้นมา และเอาไป “เลี้ยง” ไว้กับท่าน… การเลี้ยงหลานของท่านก็ออกจะแปลก เพราะท่านบรรทมกลางวันเป็นส่วนมาก แต่ปลุกหลานขึ้นมาคุยตอนกลางคืนเล่าเรื่องอะไรต่ออะไรให้ฟัง…”
หนังสือแจกงานแซยิดของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เล่มนี้ ว่ากันด้วยสำนวนการบันทึกความ ใครจะเอาไปเลียนแบบก็คงยากหน่อย เพราะถึงแม้ท่านจะออกตัวว่าเขียนแบบสบายๆ ทำนองเล่าให้ลูกหลานฟัง แต่ไอ้คำว่าสบายๆ ก็คือสบายของท่านเอง แบบที่ทำให้หนังสือฉลองแซยิดกลายเป็นหนังสืออ่านเล่นเชิงสารคดีประวัติศาสตร์ระดับหิ้งหัก ต้องพิมพ์ซ้ำเนืองๆ โดยไม่มีทีท่าจะหยุดพิมพ์เพิ่ม…
เรื่องที่ท่านทั้งหลายอาจนำมาเป็นแนวทางการจดบันทึกหรือเรียบเรียงบันทึกได้ก็คือแนวคิด “ตามธรรมเนียมของฝรั่งนั้น หากมีคนในตระกูลที่มีประวัติที่ไม่งดงามนักก็มักจะปกปิดไม่บอกให้ใครรู้และคนในตระกูลที่ปกปิดไว้นี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Skelton in the Cupboard แปลว่า โครงกระดูกในตู้…” โดย storytelling ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ท่านก็ไม่ได้เขียนแก้ต่างเท่าๆ กับที่ไม่ได้เอาเรื่องอับอายของบรรพบุรุษมาขยี้ ท่านเขียนให้คนอ่านได้ตระหนักว่าเรื่องไม่ดีไม่งามของวงศาคนาญาติ หากมัวแต่ช่วยกันปิดบังซ่อนเร้น หวังว่าสักวันผู้คนก็คงลืมๆ กันไปเอง ผลลัพธ์ก็คือนอกจากชาวบ้านจะไม่ลืมแล้ว ยิ่งนานวันเรื่องราวก็ยิ่งถูกแต่งเติมจนน่าอับอายกว่าเรื่องจริงไปเสียอีก สู้เมื่อมีโอกาสเหมาะสม จงนำโครงกระดูกเหล่านั้นออกมานอกตู้ให้ลูกหลานเหลนโหลนได้รู้จักโคตรเหง้าศักราช เพราะคนเราเกิดมาก็มีทั้งประกอบกรรมดี กรรมเลว และกรรมที่ไม่แน่ใจว่าค่อนไปทางดีหรือเลว กรรมใดลงความเห็นกันว่าเลวแน่ก็ให้คนรุ่นหลังจดจำไว้เป็นบทเรียนจะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำเหมือนคนรุ่นอดีต…
และก็ไม่รู้ว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ท่านแฉเรื่องลับๆ ของคนในครอบครัวออกมายังไง ทำไปทำมา กลับทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงคุณค่าของคำว่า ‘หัวนอนปลายเท้า’และ ‘ญาติพี่น้อง’ โดยเฉพาะเมื่อมาอ่านในยุคปัจเจกชนเช่นสมัยปัจจุบัน ก็ไม่แน่ว่าเพราะเครือญาติของท่านล้วนเป็นราชสกุลหรือเปล่าจึงทำให้คนอ่านรู้สึกปลาบปลื้มไปเอง แบบนี้ท่านผู้เป็นราษฎรสามัญทั้งหลายก็น่าลองรื้อตู้เก่าๆ หาโครงกระดูกในครอบครัว แล้วเขียนบันทึกออกมาเผยแพร่ในวาระงานรวมญาติต่างๆ กันดูบ้าง ถ้าผลออกมาทำให้ญาติพี่น้องลูกหลานรักใคร่สมัครสมานกันมากขึ้นก็อนุโมทนาไว้ ณ ทีนี้ แต่ถ้าผลลัพธ์ทำให้ท่านถูกตัดญาติขาดมิตร เป็นที่รังเกียจของครอบครัว… ท่านก็จะได้เป็นกระดูกอีกหนึ่งโครงที่เตรียมถูกโยนเข้าตู้... ก็เท่านั่นเอง
ในคัมภีร์ไบเบิ้ล มีคำตรัสของพระเยซูที่เกี่ยวพันกับสำนวน ‘Skeleton in the Cupboard’ อยู่ทำนองว่า “…ไม่มีสิ่งใดปิดบังไว้ที่จะไม่ต้องเปิดเผย หรือการลับที่จะไม่เผยให้ประจักษ์ เหตุฉะนั้นสิ่งสารพัดซึ่งพวกท่านได้กล่าวในที่มืด จะได้ยินในที่แจ้ง และซึ่งได้กระซิบในหูที่ห้องส่วนตัว จะต้องประกาศบนดาดฟ้าหลังคาบ้าน” (ลูกา 12:2-3)
แนวทางที่ 2 : ความสำเร็จ + ความล้มเหลว = ความสำเร็จ
กรณีศึกษา : “ความสำเร็จและความล้มเหลว”, 2514 – ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ
“ระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นนิสิตปีที่ 3 ในคณะอักษรศาสตร์ อาจารย์หญิงชาวอังกฤษผู้หนึ่งซึ่งเป็นคนที่ข้าพเจ้าไม่ค่อยชอบเพราะท่านเป็นคนสวยและชอบทำท่าสวย และมีชื่อเสียงในหมู่ชาวอังกฤษที่ข้าพเจ้ารู้จักว่าเป็นคนเจ้าระเบียบเกินไป เดินมาหาข้าพเจ้าที่ระเบียงชั้นล่างด้านหน้า และถามว่า “อยากไปเรียนเรื่องการศึกษาที่อังกฤษไหม” ข้าพเจ้าแปลกใจ ถามท่านว่า ท่านกำลังคิดเรื่องอะไร ท่านบอกว่า อาจารย์ชาวอังกฤษในมหาวิทยาลัยพูดกันว่าข้าพเจ้ามีท่าทีสมเป็นครู แต่ประเทศไทยในอนาคตต้องการคนหลายระดับ ถ้าเรียนวิชาครูแต่ในประเทศไทย…”
ถ้าพูดกันประสาลูกเสือชาวบ้านว่าบันทึกของคนอาชีพไหน (น่าจะ) น่าเบื่อที่สุด… อาชีพครูสงสัยจะมาเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะเมื่อบันทึกของครูถูกนำมาจัดทำเป็นหนังสือแจกจ่ายในวาระต่างๆ อาจเพราะมันเป็นอะไรที่เดาง่ายเกินไป วันเกิดครบรอบแซยิดทั้งทีอาจารย์ท่านคงไม่แจกบัตรกำนัลหรือชุดกิ๊ฟท์เซ็ตให้ลูกศิษย์ลูกหาแน่ๆ
อย่างไรก็ดี “ความสำเร็จและความล้มเหลว” ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ม.ล. บุญเหลือ (กุญชร) เทพยสุวรรณ กลายเป็นของขวัญที่ทรงคุณค่าที่สุดไม่เพียงแต่สำหรับลูกศิษย์ของท่าน ยังรวมไปถึงหนอนหนังสือ และคนที่กำลังหาแนวทางการเรียบเรียงบันทึกส่วนตัว หนังสือเล่มนี้ถูกพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งจุดประสงค์เพื่อวิทยาทานทั้งสิ้น แม้จนถึงวาระสุดท้ายของท่านอาจารย์เอง “ความสำเร็จและความล้มเหลว”ก็ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารกองทุน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ให้จัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพท่าน ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2527
จริงอยู่ว่าเพราะนี่คืออัตชีวประวัติของปูชนียแม่พิมพ์ของชาติและมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้บุกเบิกวิชาอักษรศาสตร์ยุคใหม่ ณ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นักวิชาการระดับโลกซึ่งเข้มข้นไปด้วยพื้นฐานครอบครัวราชนิกุล (ท่านเป็นธิดาคนเล็กของพระยาเทเวศรวงวิวัฒน์ แห่งราชสกุลกุญชร) และแบบแผนการศึกษาจากทั้งในเมืองไทยและโลกตะวันตก ชีวประวัติลูกเสือชาวบ้านอย่างเราๆ คงไม่อาจพิเศษใส่ไข่เทียบท่านได้ แต่ “ความสำเร็จและความล้มเหลว” นั้นแตกต่างจากผลงานวิชาการชิ้นอื่นๆ ของท่านอาจารย์ ด้วยลักษณะอัตชีวประวัติที่มีเค้าโครงของบันทึกส่วนตัว ประมาณว่าเขียนให้ตัวเองและคนอื่นอ่านไปด้วยกัน นอกจากได้ประมวลความหลังว่าความสำเร็จและความล้มเหลวในบางช่วงชีวิตของท่านเกิดขึ้นจากเหตุอันใด เพราะใคร ทำไม อย่างไร ด้วยบันทึกแบบตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องอ้างอิงวิชาการนี่ล่ะ (แต่ก็อิงหลักการของท่านเองแทบทุกบรรทัด) ยังบอกเล่าวุฒิภาวะทางความคิดว่าทำไมคนเขาถึงยกย่องให้ท่านเป็นครูชั้น ‘แนวหน้า’ แห่งยุคสมัย โดยความเป็นหัวก้าวหน้าของท่านอาจารย์นั้นมีแต่จะสร้างคุโณปการ
ใครที่กำลังสับสนในตัวเองว่าเป็นคนหัวก้าวหน้าหรือแค่คนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ติเตียนโน่นนี่ไปเรื่อย ลองเขียนบันทึกชีวิตตัวเองจากแนวทางหนังสือเล่มนี้ดู หากท่านเข้าใจอดีตดีพอ รู้จักปัจจุบัน และไม่กลัวอนาคต… ทีนี้จะก้าวไกลไปให้สุดขอบตะเข็บชายแดนอย่างไรก็เอาให้เต็มที่ไปเลย…
“ความสำเร็จและความล้มเหลว” โดย ศาสตราจารย์ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เคยอยู่ในส่วนการวิจารณ์เป็น 1 ใน 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่าน ของ สกว.
แนวทางที่ 3 : อยากให้บันทึกนี้มีแต่โชคร้าย..??
กรณีศึกษา : “ฝันร้ายของข้าพเจ้า”, 2491 – น.อ. พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช)
“เป็นครั้งแรกในชีวิตของข้าพเจ้าที่ถูกใส่กุญแจมือ รู้สึกเสียวซ่านไปทั่วสรรพางค์กายและใจรันทด พอดีรถหันหน้าไปทางพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า ข้าพเจ้าได้สติขึ้นมาจึงได้ยกมือที่ถูกล่ามโซ่ขึ้นถวายบังคมระบุนามตนเอง และกราบบังคมทูลในใจว่า ข้าพเจ้าเคยเป็นเลขานุการสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์ฯ และเลขานุการพระราชโอรสถึง 4 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานครสวรรค์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา, กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ขอได้โปรดมาเป็นสักขีพยานในความซื่อสัตย์สุจริตของข้าพเจ้า… "
การเขียนบันทึกแนวทางต่อไปนี้รับประกันว่าถูกอกถูกใจคนอ่านทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงแจกฟรี เพราะด้วยจิตใต้สำนึกลึกๆ ของคนทุกเชื้อชาติศาสนา อยากรู้อยากเห็นในความฉิบหายบรรลัยจักรของผู้อื่นอยู่เป็นทุน โดยความน่าสนใจนั้นก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความดังของผู้เขียนมากนัก แต่จะเพิ่มดีกรีขึ้นตามระดับภัยพิบัติที่เกิดผสมกับอรรถรสความทุกข์ยากลำบากเข็ญของตัวเจ้าของบันทึก
อย่างหนังสือชื่อ “ฝันร้ายของข้าพเจ้า” โดย น.อ. พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) เล่มนี้ต้องยกให้เป็นกรณีศึกษาระดับบรมครูของความวายวอดในชีวิต จะว่าไปภัยที่เกิดกับตัวท่านก็ไม่ได้ถึงขั้นเสียวสยองอะไรมาก แค่เริ่มจากถูกคณะราษฎรปลดออกจากปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม (เทียบได้ประมาณปลัดกระทรวงฯ) จนท่านต้องเปลี่ยนสถานะจากขุนนางไปเป็นนักหนังสือพิมพ์ แม้ท่านจะสาบานว่ามิได้ขอสมัครผูกฝ่ายอยู่กับกลุ่มการเมืองขั้วใด ขออยู่เป็นกลางสวยๆ แบบฐานันดรที่ 5 แค่เอียงไปทางขวานิดนึง แต่โทษฐานที่ดันเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงของทูลกระหม่อมบริพัตร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต) โจทก์เก่าของคณะราษฎร และไปเยี่ยมนายเก่าที่ปีนังบ้างเป็นครั้งคราว หลังจากเกิดเหตุกบฏบวรเดชได้ไม่นาน รัฐบาลจึงส่งหมายมาแจ้งว่า ท่านเจ้าคุณสมควรจะย้ายจากสำนักงาน นสพ. กรุงเทพเดลิเมล ไปอยู่ในคุกข้อหาแจกใบปลิวปลุกระดมก่อกบฏ
ถึงขั้นนี้ท่านเจ้าคุณก็เผ่นสิครับจะอยู่รอใครมาตัดริบบิ้น ปรากฏว่าขนาดพระยาศราภัยพิพัฒและผองเพื่อนอุตส่าห์หนีลงเรือตังเกออกทะเลไปแล้ว ก็ยังถูกตามจับกลางอ่าวไทยจนได้ (ซวยได้โล่) ท่านถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เพราะไม่มีคนกล้าลงนามสั่งประหาร ท่านเจ้าคุณและเพื่อนๆ จึงได้สถานะใหม่เป็นนักโทษการเมืองที่เรือนจำเกาะตะรุเตา ถูกขังลืมไปยาวๆ กว่าจะถึงปี 2482 ที่ท่านกับเพื่อนๆ ตัดสินใจแหกคุกไปซ่อนอยู่ในแหเรือตังเกแล้วหนีสุดชีวิตไปลำบากลำบนต่อบนเกาะลังกาวี… เนี่ยะ… ทุกข์ภัย (เบื้องต้น) ของผู้เขียนบันทึก…ก็… ประมาณนี้…
เพราะว่าถ้าท่านทนอ่านโชคชะตาบัดซบที่ท่านเจ้าคุณโอดครวญไว้ใน “ฝันร้ายของข้าพเจ้า” ได้จนจบอย่างเลือดเย็น ก็ขอแนะนำให้ท่านเก็บบันทึกความโชคร้ายระดับบล็อคบัสเตอร์ของนายทหารเรือท่านนี้ให้ครบเซ็ตไปเลย ได้แก่ “ฝันร้ายของข้าพเจ้า” “ฝันจริงของข้าพเจ้า” และ “10,000 ไมล์ของข้าพเจ้า” ได้ 3 เล่มนี้เป็นครู… ก็ไม่มีอะไรจะต้องแนะนำท่านในแนวทางนี้อีกแล้ว
บั้นปลายชีวิตของพระยาศราภัยพิพัฒ ท่านอุตส่าห์เก็บตัวนิ่งๆ สวยๆ สไตล์ฐานันดรที่ 5 (อีกแล้ว) โดยเขียนบทวิเคราะห์การเมืองให้หนังสือพิมพ์ "ปิยมิตร" บ้างเป็นครั้งคราว อยู่มาวันหนึ่งในเดือน ก.ค. ปี 2503 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ท่านเผลอไปเขียนพาดพิงเรือนจำลาดยาวทำนองว่าเป็นคุกขังลืมของนักโทษการเมือง ผลลคือสันติบาลเรียกตัวบรรณาธิการไปสอบ พระยาศราภัยพิพัฒขอรับผิดชอบด้วยการประกาศหยุดเขียน ต่อมาไม่นาน หนังสือพิมพ์ปิยมิตรก็ถูกปิด… ท่านเหมาะกับแนวนี้จริงๆ พับผ่า!
แนวทางที่ 4 : เฮี้ยวให้สุด แล้วหยุดที่เมรุ
กรณีศึกษา : หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ คุณชื่น ศรียาภัย, 2496 – ชื่น ศรียาภัย
“ตามประเพณีที่นิยมกันมีว่า ถ้าปลงศพใครแล้วต้องมีหนังสือแจกผู้ไปปลงศพ แลหนังสือนั้นๆ โดยมากเกี่ยวกับธรรมะ หน้าต้นก็มีเป็นประวัติของผู้ตายมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ผู้แต่ง บางทีมีประวัติของผู้ตายเกือบทั้งเล่ม ผู้ที่รับไปอ่านจะคิดอย่างไรข้าพเจ้าไม่ทราบๆ แต่ส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง เมื่อได้หนังสือแจกมาอ่าน บางเล่มอ่านจนจบ บางเล่มอ่านได้ครึ่งๆ กลางๆ ก็อดขันไม่ได้ และเกิดเป็นความรู้สึกแก่ตนเองว่า “อ้อ เล่นกันอย่างนี้ก็ได้นะ” แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของผู้ตายๆไม่ได้แต่งเอง ผู้ยังเขาแต่งให้ ก็ส่วนผู้แต่งนั้น จะไปโทษเขาก็ไม่ได้อีก ที่เพราะเมื่อมีผู้ไปขอให้เขียนประวัติผู้ตายก็จำเป็นจะต้องพูดแต่ส่วนดี ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงจะทำประวัติของข้าพเจ้าเสียเอง จะได้ไม่ทำให้ผู้อ่านมีข้อระแวงเมื่อได้อ่านหนังสือแจกของข้าพเจ้า มีข้อความดังนี้…”
การเขียนบันทึกแนวทางนี้ ถึงจะจัดเป็นการเขียนอัตชีวประวัติเหมือนกับกรณีของอาจารย์ ม.ล. บุญเหลือ แต่บริบทต่างกันมากทั้งวัตถุประสงค์และวิธีทำ เพราะว่าคุณชื่น ศรียาภัย ท่านเขียนบันทึกอัตชีวประวัติตั้งแต่ปี 2493 ขณะมีอายุได้ 77 ขวบ โดยตั้งใจไว้ทำเป็นหนังสือปลงศพของท่านเองโดยเฉพาะ ยุคนั้นถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่อัลเทอร์เนทีฟเอาการ ซึ่ง 3 ปีต่อมาก็สมใจท่าน เมื่อบันทึกฉบับนี้ได้รับการจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึกงานศพของคุณชื่นเข้าจริงๆ
ส่วนวิธีการเขียน แม้จะลำดับ storytelling แบบไทม์ไลน์เหมือนอัตชีวประวัติทั่วไป แต่มีความไม่ธรรมดาอยู่พอตัวในฐานที่เป็นหนังสือปลงศพ เพราะคุณชื่นเน้นประเด็นเด่นไปที่วีรกรรม-วีรเวรของตัวเองมากกว่าเรื่องคุณงามความดี กล่าวคือท่านเขียนบันทึกบอกเล่าว่าตั้งแต่เป็นเด็กหัวจุก จนโตเป็นสาวสวยสายโสด ถึงย่างสู่วัยชะแรแก่ชรา ท่านได้ไป ‘ก่อเรื่อง’ อะไรไว้บ้าง อาทิเช่น ในวัยเด็กเคยถูกข้าหลวงในวังส่งตัวกลับบ้านนอกเพราะรับความก๋ากั่นของท่านไม่ได้ หรือการที่ท่านเป็นหญิงชาววังผู้มีสไตล์แหกแหวกกระแสไม่แคร์สื่อ อะไรที่กุลสตรีไม่ทำคุณชื่นทำหมด ขี่ควาย ขี่ม้า ชกมวย เตะตะกร้อ ห้าวเป้งไปถึงขั้นฉะฝีปากกับหม่อมเจ้าพระองค์หนึ่งหน้าประตูวัดวังหน้าก็เคยมาแล้ว…
จริงๆ แล้วคุณชื่น ศรียาภัย ท่านมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้มีแนวคิด-วิถีปฏิบัติที่จัดได้ว่าเป็นสาวทันสมัย และเป็น‘feminism’ คนหนึ่งของยุค (แต่คนสมัยนั้นพูดกันว่านิสัยท่านเยี่ยงบุรุษชาติ) คุณชื่นเป็นบุตรสาวของพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม เจ้าเมืองไชยา เข้ามาเป็นสาวชาววังในพระนครตั้งแต่สมัยงานออกพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และครองชีวิตโสดสวยๆ มาได้อย่างเร้าใจจนถึงวันวายชนม์ถ้าจะให้ reference ลักษณะของคุณชื่น ก็น่าจะคล้ายๆ แม่ช้อยเพื่อนซี้แม่พลอยในเรื่องสี่แผ่นดิน
ใครที่ตั้งใจจะดำรงพฤติกรรมก๋ากั่นแก่นเซี้ยวเฮี้ยวห้าวเช่นคุณชื่น ศรียาภัย และหวังจะชิงเขียนประวัติตัวเองในหนังสืองานศพโดยไม่ให้ลำบากมือผู้อื่น ก็ต้องมั่นใจให้ได้ก่อนว่าตัวท่านจะได้แก่ตาย…
หนังสือที่ระลึกงานศพของคุณชื่น ศรียาภัย กลายเป็น rare item ของนักสะสมหนังสือเก่า ราคาค่างวดพอสมควรกับความยากในการเสาะหา แต่ถ้าเพียงแค่ต้องการอ่านหรือถ่ายรูปเก็บไว้อ่านก็สามารถทำได้โดยไปที่หอสมุดแห่งชาติ แผนกห้องเก็บหนังสือเก่า รวมไปถึงกรุหนังสืองานศพตามหอสมุดต่างๆ
แนวทางที่ 5 : สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นอย่างไรเมื่อท่านยังเป็นบักหำน้อย
กรณีศึกษา : เด็กคลองบางหลวง, 2520 – กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา)
“... คลองบางหลวงในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็ก ออกจะเป็นคลองบรรดาศักดิ์สักหน่อย ทั้งนี้เพราะตลอดสองฝั่งคลองมีบ้านใหญ่ บริเวณกว้างขวางสะอาด เป็นบ้านขุนนางข้าราชการหรือไม่ก็ผู้มีฐานะดี หลังบ้านมีสวนผลไม้ตั้งอยู่เป็นระยะๆ ไปตลอดจนออกแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านเล็กเรือนน้อยมีน้อยจนแทบไม่มีเลยก็ว่าได้...”
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ท่านออกตัวไว้ในบทคำนำของหนังสืออยู่ก่อนแล้วว่าเนื่องจากท่านไม่ได้เป็นช่างเขียน เขียนภาพเขียนแผนที่ไม่เก่ง เพราะถ้าท่านวาดภาพบรรยากาศย่านคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) สมัยที่ท่านยังเด็กได้ (ตอนที่เขียนหนังสือเรื่องนี้ท่านก็ปาไป 80 กว่าแล้ว) ก็คงไม่ต้องลำบากมานั่งทบทวนความทรงจำแล้วพรรณนาให้คนอ่านได้นึกภาพตาม ซึ่งดูจะยากทั้งคนเขียนและคนอ่าน
แต่ด้วยความยากของแนวทางเขียนบันทึกเกี่ยวกับ สภาพแวดล้อม บรรยากาศ สถานที่ ไม่ว่าจะเพราะมันกลายเป็นอดีตชาติไปแล้ว มันเป็นที่รกร้างว่างเปลี่ยว หรือห่างไกลจนไม่ค่อยมีใครเคยพบเห็น นั่นทำให้แนวทางการเรียบเรียงบันทึกเช่นนี้น่าสนใจมากๆ ยิ่งถ้าเจ้าของบันทึกมีความสามารถทางภูมิสถาปัตย์ ชอบทำสแครปบุ๊ค และบุลเล็ตเจอร์นัลแนวท่องเที่ยวเป็นงานอดิเรก มีทักษะเรื่องแผนที่ทางวัฒนธรรมและการทำ Alternative Map* (*ดูบทความ “เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร”) ก็จะยิ่งเพิ่มทุนความน่าสนใจเข้าไปอีก
แต่เหนืออื่นใดก็คือผู้บันทึกต้องมีความจำเป็นเลิศชนิดแดกโอเมก้า 3 ทุกวันได้จะเป็นการดี เท่าๆ กับที่เป็นผู้มีความสามารถในการเขียนเล่าเรื่อง แบบที่เรียกว่าเล่าให้เพื่อนฟังในวงเหล้าสนุกได้อย่างไร ก็ต้องเขียนบันทึกให้ได้อรรถรสห้ามแพ้กัน
แนวทางเขียนบันทึกถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวในวัยบักหำน้อย มีเคล็ดลับข้อหนึ่งว่า จงอย่าบันทึกรายละเอียดให้สมบูรณ์เกินไป หรือหากหาข้อมูลเพิ่มเติมมาได้ก็พยายามสอดแทรกไว้ให้เนียนที่สุด อย่าลืมว่านี่คือบันทึกความทรงจำไม่ใช่บทสารคดี ดังที่กาญจนาคพันธุ์ออกตัวไว้ในหนังสือว่าท่านใช้ชีวิตอยู่ริมคลองบางหลวงถึงแค่ 6-7 ขวบ แต่มาเขียนเรื่องนี้เอาในปี 2519 โดยที่ไม่ได้นั่งเรือผ่านคลองนี้มาร่วม 60 ปีแล้ว