Oxford English Dictionary ให้ความหมายของคำ doodle ไว้ประมาณนี้
v. to scribble absent-mindedly
n. a rough drawing made absent-mindedly
ส่วนปทานุกรมนักเรียนได้ให้ความหมายภาษาไทยของคำว่า Doodle ไว้อย่างทื่อมะลื่อว่า
“เขียนหรือวาดภาพอย่างใจลอย, ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไม่มีประโยชน์”
เพียงแค่ได้ยินความหมาย Doodle ก็ถูกหมายหัวให้เป็น “คำไม่พึงประสงค์” ไปแล้ว ถึงจะฟังดูน่ารัก แต่กลับไม่น่าพิสมัยนักในมุมมองของเหล่าคณาจารย์หรือเจ้านายผู้เป็นประธานการประชุมไปเสียแล้ว เพราะ doodle ถูกเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของคนที่เหม่อลอยไม่สนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และยิ่งไปกว่านั้นคือ เชื่อกันว่าการวาด doodle นั่นแหละ มันเป็นอะไรที่รบกวนการเรียนรู้และการใช้สติปัญญา
แต่นี่ปี 2020 แล้ว และ doodle สามารถเป็นอะไรได้มากกว่านั้น นอกเหนือไปจากการวาดเขียนขยุกขยิกแก้เบื่อ และแน่นอนมันไม่ใช่อาชญากรรมในห้องเรียนหรือกลางที่ประชุมอย่างพร่ำสอนกัน ทว่าเป็นเทคนิคการคิดหาไอเดียที่แตกต่างไปจากกรอบเดิม
Photo by Thought Catalog from Pexels
Sunni Brown เจ้าของหนังสือ “The Doodle Revolution” แสดงจุดยืนท้าทายความเชื่อเก่า ๆ ของคนที่ไม่ยอมรับ doodle ด้วยการตั้งนิยามใหม่ให้กับรูปวาด doodle ที่เธอเสนอไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “meaningful marks that help us think” (doodle คือ ภาพสัญลักษณ์มีความหมายที่ช่วยให้เราคิด)
“อาจจะดูเหมือนคนใจลอยเวลาวาด doodle แท้จริงแล้ว ฉันกำลังรวบรวมความคิดเพื่อสร้างไอเดียอยู่ต่างหาก”
— Susan Wilson ครูโรงเรียนมัธยม/นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ใน WSJ
Doodle เพื่อความจำ
งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2009 ให้อาสาสมัครสองกลุ่มฟังเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ โดยกลุ่มที่ฟังและวาด Doodle ไปพร้อมกัน สามารถจดจำข้อมูลได้มากกว่า 29% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้วาด นักวิจัยสรุปผลการทดลองครั้งนี้ ว่าการวาด Doodle พร้อมกับทำงานไปด้วยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานได้ ซึ่งให้ผลแตกต่างไปจากการทำงานหลายอย่างภายในคราวเดียวกัน
แม้ไม่อาจระบุได้ชัดเจนว่า เหตุใด Doodle จึงส่งผลดีต่อความจำของผู้วาด แต่บทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเสนอว่า เมื่อคนเรารู้สึกเบื่อหน่าย ร่างกายจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกด้วยการตอบสนองแบบจะสู้หรือจะหนี (Fight or Flight Response) ดังนั้นการวาดอะไรก็ตาม จึงเปรียบเหมือน “เฮือกสุดท้าย” ของสมองกลับมาฮึดสู้กับความง่วง หรืออย่างน้อยก็จะได้ไม่ต้องทนนั่งเฉย ๆ ในขณะที่สมองขอพักเบรก หากต้องใช้สมาธิจดจ่อกับอะไรติดต่อกันเป็นเวลานาน สมองจะเกิดความตึงเครียด วิธีแก้ก็คือ ควรปล่อยให้สมองพักบ้าง การวาด Doodle ไปด้วยระหว่างนั่งทำงานก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหาย เมื่อต้องทำงานเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง เพราะหากยิ่งฝืนทำงานต่อไป ความอดทนสนใจในการทำงานก็จะยิ่งลดฮวบฮาบจนถึงขั้นงานเป็นอัมพาตเลยทีเดียว
นอกจากการวาด doodle จะช่วยให้ไม่ลืมเรื่องราวต่าง ๆ แล้ว ตัวผู้วาดเองยังได้เพิ่มพูนทักษะการจัดระเบียบชุดข้อมูลและความคิดอันซับซ้อนมหาศาลที่ต้องพบเจอในแต่ละวัน Michiko Maruyama นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัย British Columbia วาด doodle เพื่อทบทวนบทเรียนอย่างน้อยวันละ 30 นาที
“พอได้วาด doodle ฉันก็เข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร รู้ว่าตัวเองรู้อะไรและอะไรที่ยังไม่รู้”
– Michiko Maruyama นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัย British Columbia ให้สัมภาษณ์ใน WSJ
Doodle เพื่อผ่อนคลาย
Doodle หรือนักวิจัยเรียกกันว่า การวาดอิสระ (spontaneous drawing) ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัยกันว่าการวาดอิสระมีผลต่อสุขภาพจิตอย่างไร การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยมะเร็ง พบว่า doodle สามารถบรรเทาความเครียดของผู้ป่วยได้
นอกจากนี้ยังพบว่า ในขณะกำลังวาด doodle อยู่นั้น สมองจะเข้าสู่โหมดย้อนเวลา จิตใจจะนึกย้อนถึงเรื่องราวที่ผ่านมาในอดีต ตามหาเรื่องราวหรือความทรงจำบางอย่างที่หายไป ผู้วาดจะใช้เวลานี้อยู่กับปัจจุบัน ทำความรู้จัก “ตัวตนที่แท้จริง” ของตัวเอง และยังได้เยียวยาจิตใจ ผ่อนคลาย และฝึกสมาธิไปพร้อมกันอีกด้วย
Photo by cottonbro from Pexels
ภาพ doodle ที่แต่ละคนวาดอาจดูไร้ความหมาย แปลกประหลาด หลุดโลก แต่สิ่งที่ถูกวาดขึ้นมาไม่ได้ไร้ความหมายซะทีเดียว แต่อาจเป็นการสื่อสารด้วยภาษาภาพหรือระบบสัญลักษณ์ผ่านจิตไร้สำนึกของผู้วาด รูปทรงสามารถบ่งบอกบุคลิกหรือจิตใจของเจ้าของภาพนั้นได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่นกรณีของ Dr. Robert Burns อดีตผู้อำนวยการสถาบัน Institute for Human Development แห่งมหาวิทยาลัยซีแอตเทิล ที่นำ ภาพ doodle ที่คนไข้ได้วาดระบายความรู้สึก มาใช้วิเคราะห์สภาพปัญหาทางอารมณ์ของคนไข้
Doodle กุญแจไขสู่โลกจินตนาการ
ว่ากันว่า คนที่วาด doodle อยู่เป็นประจำ จะปิ๊งไอเดียสดใหม่กว่าใครเสมอ เพราะว่า Doodle กระตุ้นสมองในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลนำทางไปสู่ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แล้วถ่ายทอดความคิดหรือภาพในใจนั้นออกมาผ่านภาพวาดและเส้นสายต่าง ๆ
เมื่อ Lorina Capitulo จิตรกรและนักประติมากรรม ต้องต่อสู้กับภาวะไอเดียตีบตันอยู่เนืองๆ เธอจึงพยายามหาแรงบันดาลใจจากแหล่งใหม่มาใช้ในการสร้างงานศิลปะ แต่แล้วคืนหนึ่งเธอก็เหลือบไปเห็นลูกชายกำลังวาดรูประบายสี แล้วจากนั้น doodle ก็กลายเป็นเครื่องมือในการทำงานและการจัดการอารมณ์ของเธอ
Lorina บอกกับสำนักข่าว Huffpost ว่า Doodle ทำให้เธอมีความสุขมาก เหมือนตอนได้วาดภาพตอนเรียน ม.ปลาย มิหนำซ้ำยังต่อยอดอาชีพศิลปะของเธอให้หลากหลายออกไปอีก
“เมื่อได้วาด Doodle ฉันได้มองย้อนเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นในชีวิต”
— Lorina Capitulo จิตรกรและนักประติมากรรม ให้สัมภาษณ์ใน Huffpost
ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรใหญ่ระดับโลกอย่าง Dell Zappos รวมทั้ง Disney เริ่มส่งเสริมพนักงานให้ระดมไอเดียและพัฒนาทักษะการคิดผ่านการวาด Doodle สำหรับการทำงาน และเสริมประสิทธิภาพความจำ
Photo by Andrea Piacquadio from Pexels
จะเริ่มต้นวาด Doodle อย่างไรดีล่ะ
ถ้าคุณวาดรูปไม่ค่อยเก่ง หรือแทบไม่มีหัวทางด้านศิลปะเลย ก็อย่าได้ตัดพ้อท้อใจไปก่อน อันที่จริง Doodle นั้นจะเป็นลายเส้นแบบไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสวยเป๊ะเสมอไป ขอแค่ให้คุณสนุกทุกครั้งที่วาด และข้อสำคัญคือ คุณสามารถบอกเล่าอะไรบางอย่างหรือระบายอารมณ์ความรู้สึกลงไปใน Doodle
Sunni Brown บอกว่า เธอมีสัญลักษณ์กับลายเส้นง่ายๆ พื้นฐาน 12 แบบสำหรับ Doodle ซึ่งแค่เห็นก็รู้ความหมายทันที คุณก็สามารถประกอบภาษาภาพของคุณเองได้จากสัญลักษณ์หรือลายเส้นพื้นฐาน เช่น จุด เส้นตรง เส้นโค้ง รูปทรงหลายเหลี่ยม หรือวงกลม และกฎไม่ตายตัวหรอกน่า คุณสามารถสร้างรูปทรงอิสระที่เป็นเอกลักษณ์เพิ่มได้ตามใจชอบ
อ่านจนจบแล้ว ประชุมคราวหน้าอย่าลืมพกสมุดไปจดบันทึกวาระการประชุม และอย่าลืมวาด Doodle ด้วยล่ะ บางทีอาจมีไอเดียเด็ดๆ น่าสนุกซุกซ่อนอยู่ใน Doodle เพียงแค่รอเวลาปรากฏโฉมให้ทุกคนได้เห็น ขอแค่คุณลงมือวาดสบายๆ ไปตามอารมณ์ แถมยังได้ระบายความอัดอั้นตันใจเมื่อการประชุมไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงอย่างง่าย ๆ