เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ “ลิควิด เปเปอร์”

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ “ลิควิด เปเปอร์”

Interesting Reads | 28 Apr 2023

3,367 Views

รู้หรือไม่!! น้ำยาในปากกาลบคำผิด มีสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ด้วย แล้วสารตัวนี้ไปอยู่ในน้ำยาลบคำผิดได้ยังไง และจะส่งผลอันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง เชื่อว่าทุกคนคงเกิดคำถามเหล่านี้ขึ้นในใจกันบ้างแล้ว วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสารตัวนี้กัน

ต้นกำเนิด

น้ำยาลบคำผิดถูกคิดค้นขึ้นโดยเบ็ตต์ แคลร์ แมคเมอร์เรย์ (Bette Claire MacMurray) ในขณะที่เธอกำลังทำงานเป็นเลขานุการในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง หน้าที่การงานของเธอต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องพิมพ์ดีดโดยตรง ซึ่งก็จะมีปัญหาเวลาพิมพ์คำผิด ที่ไม่สามารถลบตัวหมึกสีดำนั้นออกไปได้ วันหนึ่งขณะที่เธอรับจ้างตกแต่งสถานที่ต้อนรับวันคริสต์มาส เธอได้สังเกตเห็นช่างทาสีใช้สีขาวทาทับบริเวณที่เขียนคำผิด หลังจากนั้นเธอจึงเริ่มพกขวดใส่สีขาวชนิดน้ำและพู่กันไปทำงาน และใช้อุปกรณ์เหล่านี้ลบเมื่อพิมพ์คำผิด เธอทำเช่นนี้เป็นเวลา 5 ปี จนเพื่อนร่วมงานของเธอขอให้ทำอุปกรณ์ลบคำผิดแบบนี้ให้บ้าง เธอจึงตระหนักได้ว่าควรทำอะไรสักอย่างกับอุปกรณ์ลบคำผิดนี้ เธอเริ่มปรึกษากับครูเคมีของลูกชาย และให้นักผลิตสีที่รู้จักสอนวิธีบดและผสมสี โดยใช้ห้องครัวเป็นห้องปฏิบัติการ และใช้โรงรถเป็นโรงงานผลิต จากนั้นรวบรวมเงินจำนวน 200 เหรียญ จ้างนักเคมีทำน้ำยาที่ใช้ผสมกับสีเพื่อให้แห้งเร็วและไม่เหลือคราบทิ้งไว้ เธอได้ตั้งชื่อน้ำยาลบคำผิดนี้ว่า มิสเทค เอาท์ (Mistake Out) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ลิควิด เปเปอร์ (Liquid Paper) ต่อมาในปี ค.ศ. 1956 เธอได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และในปี ค.ศ. 1979 เธอได้สร้างเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายและร้านค้าสำนักงาน จนกระทั่งทำรายได้ถึงปีละ 38 ล้านเหรียญ แล้วจึงขายกิจการให้กับบริษัท ยิลเลตต์ คอร์ปอเรชั่น ในปีเดียวกัน


สารในน้ำยาลบคำผิด

สารประกอบหลักที่อยู่ในน้ำยาลบคำผิดประกอบไปด้วยสารไทเทเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) เป็นสารที่มีสมบัติทึบแสงทำหน้าที่ปิดคำผิด และตัวทำละลายอินทรีย์ที่ระเหยได้ง่ายเพื่อทำให้น้ำยาลบคำผิดแห้งตัวเร็ว (สารตัวนี้แหละที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้อย่างเรา) เมธิลคลอโรเฮกเซน (methylchlorohexane) ชื่ออื่น ๆ chlorohexylmethane, hexahydrotoluene, toluene hexahydride โครงสร้างทางเคมี C7H14 เป็นของเหลวไม่มีสี กลิ่นคล้ายเบนซีน ไม่ละลายในน้ำ ทำปฏิกิริยากับ oxidizing agent เช่น ออกซิเจน กรดไนตริก กรดซัลฟิวริก ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เป็นต้น มีสมบัติติดไฟได้ง่าย เป็นสารไวไฟ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ใกล้ประกายไฟหรือเปลวไฟ หากเกิดการลุกไหม้ควรใช้น้ำยาดับเพลิงชนิดโฟมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเคมีชนิดแห้ง

ภาพโครงสร้างของเมธิลคลอโรเฮกเซน

อันตรายจากการใช้น้ำยาลบคำผิดที่มีสารประกอบของเมธิลคลอโรเฮกเซน

เมธิลคลอโรเฮกเซนนอกจากจะเป็นสารไวไฟแล้ว ยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย หากสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดการระคายเคืองที่จมูกและคอ หายใจลำบาก อีกทั้งเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ หากสัมผัสทางผิวหนังบ่อย ๆ จะทำให้ผิวหนังแห้งได้


ก็จบลงไปแล้วสำหรับสารอันตรายในน้ำยาลบคำผิด ถึงแม้ว่าน้ำยาลบคำผิดจะมีประโยชน์และสร้างความสะดวกสบายต่อผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก แต่โทษของมันก็มีอันตรายมากเช่นกัน เราจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง หากต้องใช้งานควรใช้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือหาอุปกรณ์มาป้องกันให้เหมาะสม หรือเลือกน้ำยาลบคำผิดที่มีส่วนผสมเป็นตัวทำละลายอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน

ที่มาภาพ :

Our Products

Related Posts

Messenger Line