เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร

เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร

Living Style | 26 Nov 2019

4,094 Views

  • หนึ่งใน bullet journal idea ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือการทำแผนที่ท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนเป้าหมาย-บันทึกการเดินทาง ตลอดจนลิสต์สถานที่ที่จะไป ทั้งระดับเมือง ประเทศ ไปจนถึงถนนหนทาง... ผลพลอยได้ของแรงปรารถนาเหล่านี้ คือคุณจะได้ทำความเข้าใจกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และอีกสารพัดศาสตร์ ควบคู่กับการจดบันทึกไปโดยปริยาย
  • สำหรับโอกาสนี้ ผู้เขียนข้ออนุญาตกราบเรียนนำเสนอไอเดียการสร้าง bullet journal อีกแบบหนึ่ง อนุมานรูปแบบบันทึกนี้ว่าเป็น “Alternative Map” ความแตกต่างของมันจากการทำแผนที่ท่องเที่ยวทั่วไปที่เราเห็นกันดาษดื่นใน pinterest ก็คือคุณอาจจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจกับศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นๆ บ้าง จะมากจะน้อยก็ตามอัตภาพ และที่สำคัญมันจะเป็นการสร้าง bullet journal ที่ไม่ใช่มาจากมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมของคุณคนเดียว แต่จะต้องมาจากการปะทะสังสรรค์ ทัศนะ ปากคำ ความเห็น ของคนอื่นๆ บ้าง เพราะหัวใจนักปราชญ๋ก็คือการ ฟัง คิด ถาม ตามกำหนดแล้วค่อยจดลงไป ซึ่งรูปแบบการสร้าง “Alternative Map” เช่นนี้ อาจจะกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ถูกนำไปใช้ในหนังสือ สารานุกรมฉบับชาวบ้าน หรือโปรเจ็คท์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลวัตรทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น ต้นแบบที่นำมาเป็น reference ของตัวอย่าง Alternative Map ชิ้นนี้ ก็มาจากโปรเจ็คท์เว็บเพจของทีมนักสร้าง ‘แผนที่ทางวัฒนธรรม’ แห่งเมือง Leeds ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับการยกย่องว่า Alternative Map ของพวกเขาช่วยอธิบายความแตกต่างของคำว่า ‘Road’ กับ ‘Street’ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
  • ผู้เขียนได้ทดลองสร้าง Alternative Map ของถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กทม. ขึ้นมาเป็นตัวอย่างนำเสนอไอเดีย สำหรับถนนเฟื่องนครนั้น นับเป็น 1 ใน 3 ของถนนรุ่นแรกของไทยที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานมงคลนามสอดคล้องกันว่า ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร... ทว่าในขณะที่เจริญกรุง-บำรุงเมือง ยังคงเป็นถนนสายเศรษฐกิจเส้นสำคัญของกรุงเทพฯ มาจนถึงปัจจุบัน แต่เฟื่องนครนั้นกลับกลายสภาพเป็นถนนสายแคบๆ สั้นๆ จะเป็นถนนท่องเที่ยวแบบ creative classic เหมือนเจริญกรุงก็ไม่ใช่ จะเป็นย่านดัชนีการค้าขายแบบบำรุงเมืองก็ไม่เชิง จะเป็นย่านชุมนุมนักคิดนักเขียนเหมือนยุคกึ่งพุทธกาลตอนนี้ก็คงไม่ใช่แล้ว... เฟื่องนครมีความเก่า เงียบสงบ บางส่วนทรุดโทรมไปบ้าง การสัญจรไม่พลุกพล่าน และไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ความฟุ้งเฟื่องของมหานครอย่างที่มันเคยเป็นเมื่อเก่าก่อน   
  • ด้วยความยาวถนนที่ถูกตัดทอนลงเหลือเพียงไม่ถึง 500 เมตร เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาทดลองสร้างไอเดีย Alternative Map โดยผู้เขียนได้รับความอนุเคราะห์จากมิตรสหายในเพจลับ “คนรักเฮียเจา” มาช่วยกันทำโปรเจ็คท์นี้ ให้ลูกเพจแต่ละคนได้ลองไปสัมผัสถนนเฟื่องนคร และแสดงทัศนะส่วนตัวออกมาตามอัธยาศัย ต้องของกราบขอบพระคุณมิตรสหายจากกลุ่มลับ “คนรักเฮียเจา” มา ณ โอกาสนี้ด้วย

❝ ถนนเฟื่องนคร สร้างปี 2406 เคยมีหัวถนนอยู่ปากคลองตลาดยาวไปถึงท้ายถนนที่วัดบวรฯ ระยะทางรวมกว่า 2.5 กม. แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 460 เมตร เพราะถูกแบ่งเป็นถนนบ้านหม้อ ถนนตะนาว หัวถนนเฟื่องนครเลยร่นมาเริ่มที่แยกสี่กั๊กพระยาศรี และไปสุดอยู่แค่แยกเสาชิงช้า ❞
“Red Cross Tea Room”,ร้านกาแฟแบบ Cafe’ แห่งแรกของเมืองไทยสมัย ร.6 เคยอยู่ที่แยกสี่กั๊กพระยาศรี เจ้าของคือ แหม่มโคล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย... ถ้าอยากเห็นว่าเป็นไง ต้องไปร้านกาแฟเพลินวานพานิชย์ ซอยทองหล่อ 13… ใครจะไป ฝากหยิบแก้วมาให้ใบนึง…"

— บานาน่า ปาณาลี นักสะสมกระปุก

"3 พี่น้องที่เกิดมาไล่เลี่ยกัน เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร... ที่นี่เปลี่ยนแปลงไปน้อยที่สุด โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมตะวันตกตั้งแต่สมัย ร.4 อาคารจะเป็นตึกแถว 2 ชั้น กว้าง 3 เมตร สูง 10 เมตร หลังคาปั้นหยา กระเบื้องว่าว ตึกหัวมุมถนนสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ยังไม่ค่อยมีตึกแถวผีเปรตสมัยใหม่โผล่มาแทรกแซมให้เกิดอุจาดทัศนามากนัก"

— แป๊บ ทุ่งสง ชาวสวนยาง

"ถ้ายึดตามถนนสายเดิม ถนนเฟื่องนครมีโรงเรียนวัดชื่อดังและเก่าแก่เกิน 100 ปี อยู่ถึง 3 โรงเรียน 1. รร. วัดบวรฯ ก่อตั้งปี 2442 เป็นโรงเรียน 'สาธิต' แห่งแรกของประเทศ 2. รร. วัดมหรรณพาราม ตั้งปี 2427 โรงเรียนหลวงแห่งแรกที่เปิดรับบุตรหลานราษฎรเข้าเรียนและ 3. รร. วัดราชบพิธ ตั้งปี 2428 ซึ่งอยากจะย้ำว่า ‘ราชบพิธ’ สะกดแบบนี้ ไม่ใช่ ‘ราชบพิตร’"

— อภิรดี เจ้าหญิงแห่งวงการพิสูจน์อักษร

“…นางประแดะหูกลวงดวงสมร ครั้นรุ่งเช้าท้าวประดู่ภูธร เสด็จจรจากเวียงไปเลี้ยงวัว..." เห็นเขาว่าแยกคอกวัวก็คือโรงเลี้ยงวัวหลวงในเรื่องระเด่นลันได ก็เลยว่าจะเริ่มเดินสำรวจจากฝั่งนี้ไปเข้าถนนเฟื่องนครปัจจุบัน... ตั้งแต่มานี่ยังไม่เห็นซักคอก เจอแต่พระนครบาร์มาร์บาร์ สาเกผับ... 3 วันละ เมาอยู่แยกนี้ ไม่ถึงเฟื่องนครซักที"

— เนเน่จัง ครูประชาบาล

"อะไรนะ เฟื่องนคร!? ทำไม!? หนูไม่ไป หนูกำลังยุ่ง... ฮึ้ยยย!!"

— สุภารัตน์ ราชภัฎอุดรดีไซเนอร์สุดฮ็อตเวอร์

"อดีตกาลนานชาติ ที่นี่ก็ช็อปปิ้งสตรีทของชาวพระนครดีๆ นี่เอง มีห้างฝรั่งหรูๆ ตลอด 2 ฝั่งถนน ห้างเอสทิสแมนแอนโก ขายนาฬิกาหรู- ห้างอันเดร ขายเยอรมันแบรนด์เนม - ห้างซีปาปายาโนปุโลส ขายซิการ์ - ห้างบัตเลอร์ ขายรถยุโรปและอเมริกา - ห้างแอล.ยีริกันตีห้างแบดแมน ห้างคีเซียวแอนซันซ์ กับห้างแรมเซ เวก ฟิลด์ คือเอ็มควอเทียร์ของยุคนั้นเลยทีเดียว... พวกร้านเพชรนิลจินดาจากยุโรปก็มีห้างมแลบ ยุเลียน ของฝรั่งเศส - ห้างแกรเลิต ของเยอรมัน... เป็นไง... เรื่องช็อปปิ้งฉันจริงจัง ขอบอก... วันนี้ก็กะจะมาถอยโรเล็กซ์ที่ Rolex House ซักเรือน แต่... ตังค์ไม่พอ... เลยเดินไปเสาชิงช้าซื้อชาจีนร้านอ้วงอิวกี่กลับไปชงกินที่บ้าน..."

— วันวิสาข์ AE สาวสวยระดับ อบต.

"ทำไมปล่อยให้ชาวบ้านเปิดซุ้มไก่ชนอยู่ใกล้ๆ กระทรวงมหาดไทย? ดิฉันไม่เข้าใจ มันผิดกฎหมาย หรือ มท.1 เอาหูไปนาเอาตาไปไร่? พวกโรงแรมจิ้งหรีดหลังศาลเจ้าพ่อเสืออีกนั่นล่ะ ทำไมไม่จัดการ ปล่อยให้เป็นแหล่งค้าประเวณี แถมหญิงขายบริการก็เก่าแก่คร่ำคร่าไม่ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่า กทม. ดิฉันจะรีโนเวททั้งถนนให้เหมือนเจริญกรุงฝั่งบางรัก โรงแรมเก่าๆ พวกนี้ดิฉันจะดัดแปลงให้เป็นสตูดิโอแกเลอรี่เสียให้หมด ส่วนหญิงสูงวัยขายบริการ ดิฉันจะจับเข้าพิพิธภัณฑ์ ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้...โปรดเลือกดิฉัน อภิรดี ศรีปิ่นเกล้า เป็นผู้ว่าฯ สมัยหน้า..."

— อภิรดี ศรีปิ่นเกล้า ผู้ชิงชังความคร่ำครึ

"เดี๊ยนอยู่ที่นี่ ไม่แปลกใจที่เฟื่องนครจะเงียบเหงาเก่าโทรมลงทุกวัน ใช่สิ มันไม่ใช่ถนนเศรษฐกิจเหมือนเจริญกรุง-บำรุงเมืองอีกแล้วเมื่อ 3 เดือนก่อนเดี๊ยนโทรไปแจ้ง กปน.ว่าคุณรื้อฟุตบาทซ่อมท่อประปาหน้าร้านเดี๊ยนแล้วทำไมไม่เก็บงานให้เรียบร้อย ลูกค้าร้านทับทิมของเดี๊ยนสะดุดหน้าทิ่มกันหลายคนแล้ว พอ จนท. มาถึง เห็นว่าเป็นร้านขายทับทิมกรอบ เขาก็ยื่นถุงปูนกับเกรียงให้อันนึงแล้วบอกให้เดี๊ยนฉาบอิฐปูฟุตบาทเอง..."

— กิตติมา ป่าหวาย ท้าวแชร์

"ไม่เคยไปเลยฝั่งพระนคร เลยเปิด GPS นำทาง... ขับนานมากกว่าจะถึง... แม่ม... นี่มัน... พระนครศรีอยุธยา!!"

— อ่อมมี่ ชอบตีจิงโจ้ ผู้ช่ำชองการตัดขนแมวสกอตติช

"ตั้งใจมาซื้อข้าวเหนียวมะม่วงร้าน ก. พานิช โดยเฉพาะ พอมาถึงแยกบ้านหม้อ ก็เแวะกินแซนวิชฝรั่งเศสที่ Old Town Cafe ก่อน ต่อด้วยลูกชิ้นปลาอ๋าเมืองเอก เดินมาดูหนังสือร้านสวนเงินมีมา เจอราดหน้าเคี้ยงเอ็มไพร์อีกเลยจัดไป กับลูกชิ้นวัวเซ็นไท้ฝั่งตรงข้ามกระทรวงมหาดไทย ว่าจะพอแล้ว แต่ก็นะ นานๆ มาที เลยปิดท้ายด้วยข้าวผัดปู ข้าวผัดหนำเลี้ยบ ผัดหมี่ซั่ว โกยซีหมี่ สุกี้แห้ง สลัดแซลมอน ที่ร้านทวีโภชนา... สุดท้าย หาร้าน ก. พานิชไม่เจอ…! ขากลับโพล้เพล้แล้ว เดินมารอรถเมล์ริมคลองหลอด มีป้าทาปากแดงแป๊ดเดินมาถามว่า 'กะหรี่มั้ยหนู' เลยบอกไปว่า 'อิ่มแล้วคับป้า'"

— ชายชาวยิวผู้หิวโหย

"เฟื่องนคร เคยเป็นย่านโรงพิมพ์และแหล่ง "ชุมนุมจอมยุทธอักษร" หรือ "มงมาร์ต ออฟ คลองหลอด" ในตรอกซอกซอยของที่นี่เคยสุมทุมไปด้วยนักเขียน-จิตรกรระดับบรมครูของชาติ รงษ์ วงค์สวรรค์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ มนัส จรรยงค์ อุษณา เพลิงธรรม ฯลฯ นักประพันธ์นามอุโฆษเหล่านี้ ล้วนเคยมานั่งกินเหล้าหรือกินถั่วอยู่ในเฟื่องนคร..."

— ส.จ.โอ๋ นักการเมืองท้องถิ่น

"ถนนที่มีตรอกซอกซอยซับซ้อนซ่อนพหุวัฒนธรรม ชนชั้น วรรณะ สุขะ พละ... ตั้งแต่ยุคต้นกรุงเป็นย่านบ้านเรือนข้าราชบริพาน ตุลาการ โหรหลวง ช่างศิลป์ ชาวญวนและมอญ สมัย ร. 4 - ร.5 มีวังเชื้อพระวงศ์มากมาย เป็นย่านห้างฝรั่งหรูหรา ยุค ร.6 มีตลาดบำเพ็ญบุญตามมาด้วยภัตตาคาร โรงหนัง โรงจ้ำบ๊ะ โรงฝิ่น ... วันนี้ ผมตั้งใจมาชุมชนช่างตีทองคำเปลวในตำนานที่ตรอกเฟื่องทองและตรอกวิสูตร... ซึ่ง... อยู่ตรงไหน? ที่นี่ที่ไหน? ใครก็ได้ช่วยด้วย ผมหลงทาง....!!"

—จตุพร นอนกลางวัน นักเล่นเครื่องประดับอัญมณี

"ไม่มีป้อมให้ตีเลย จะตีป้อมตำรวจหน้าวัดราชบพิธก็เกรงใจแมว (เห็นมีแต่แมวนอน ไม่มีตำรวจซักคน).... เลยนั่งตุ๊กๆ ไปตีป้อมมหากาฬแทน..."

—ปาย ไดวฟ์ป้อม เทพธิดา ROV

"ชุมชนตรอกเฟื่องทอง-ตรอกวิสูตร ทุกวันนี้มีผู้อาศัยราว 500 ครัวเรือน เหลือน้อยนักที่เป็นบ้านเก่าดั้งเดิม ส่วนมากกลายเป็นตึกแถวของคนต่างถิ่น ชุมชนเปลี่ยนแปลงเป็นแหล่งทำอัญมณีเพื่อการส่งออก ไม่ใช่ย่านช่างฝีมือตีทองคำเปลวเหมือนในอดีต สิ่งที่ต้องรู้ไว้คือถ้าไม่คุ้นพื้นที่อย่ามาเดินสะเปะสะปะแถวนี้ เพราะมีทั้งยาเสพติด อาชญากรรม จากวัยรุ่นที่เป็นลูกหลานแรงงานต่างถิ่น-ต่างด้าวคุณอาจถูกตีกบาลชิงทรัพย์ได้... เอ๊ะ... เหมือนได้ยินเสียงใครร้องขอความช่วยเหลือ...?"

—เฌอกบ ช่างภาพอาชญากรรม


Our Products

Related Posts

Messenger Line