สมุดบันทึกความสุข

สมุดบันทึกความสุข

Living Style | 26 Nov 2019

7,615 Views

เคยได้ยินเรื่องสมุดบันทึกความสุขกันบ้างมั้ย? 

เคยมีคำแนะนำว่า หากต้องการให้ชีวิตของเรามีความสุข เราต้องสร้างความสุขนั้นขึ้นมาเอง ด้วยการบันทึกกิจกรรมความสุขที่เกิดขึ้นที่ตนเองพึงพอใจเพียงวันละ 3 ข้อ ลงในสมุดบันทึกความสุข แม้ว่าจะเป็นความสุขแม้จะเล็กน้อยสักแค่ไหน และต้องจดสมุดบันทึกความสุขเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจนครบ 365 วัน ภายหลังจากนั้น ชีวิตเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 


กิจกรรมแห่งความสุข

เคยรู้มั้ยว่าอะไรคือความสุขในชีวิต เมื่อวิเคราะห์ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนและตั้งแต่เกิดจนตาย เรากำลังทำสิ่งที่มีความสุขอยู่หรือเปล่า สภาพแวดล้อมที่เราพบเจอ ส่งผลกระทบต่อความสุขหรือไม่ เพราะหากเราไม่รู้จักความสุข เราคงไม่สามารถจดสมุดบันทึกความสุขได้ 

“สุขกายสบายใจ” อาจเป็นคำตอบเบื้องต้นเกี่ยวกับคำนิยามความสุข เพื่อแสดงถึงแนวทางของการจดกิจกรรมลงในสมุดบันทึกความสุข ลองพิจารณาว่า กิจกรรมอะไรบ้างที่เราทำแล้วมีความสุข โดยขอยกตัวอย่าง กิจกรรมแห่งความสุข มาให้เห็นกัน

กิจกรรม สุขกายสบายใจ
- นอนเต็มที่ - ร่างกายสดชื่น จิตใจแจ่มใส
- กินอาหารอร่อยๆ - ท้องอิ่ม หายหิว สมองปลอดโปร่ง
- ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี - รู้สึกสนุก สงบ และสบายใจ
- ทำงานที่ตนเองชอบ - มีเงินจับจ่ายใช้สอย ภูมิใจและมีคุณค่า
- ออกกำลังกาย - สุขภาพแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า
- ซื้อของที่ต้องการ - ดีใจ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย
- บริจาคเงินและสิ่งของ - สุขใจและชื่นใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น
- เล่นกับสัตว์เลี้ยง - ผ่อนคลาย หายเครียด อารมณ์ดี
- ทำสวน/ปลูกต้นไม้ - ได้ออกแรง รู้สึกสดชื่นจากการได้สัมผัสธรรมชาติ
- ท่องเที่ยว - พบประสบการณ์ใหม่ที่ตื่นเต้น มีความทรงจำที่ดี
- สังสรรค์กับเพื่อนฝูง - สนุกสนาน ผ่อนคลาย
-อยู่กับคนรักและครอบครัว - อบอุ่นและสุขใจ



ชั่งน้ำหนักความสุข

เคยประเมินกันบ้างมั้ยว่า อะไรที่ทำให้เรามีความสุขจริงๆ ถ้าความสุขเหล่านั้นเป็นความรู้สึกที่สัมผัสจับต้องได้ มาชั่งน้ำหนักความสุขกันเถอะ 

กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แปรผันตามองค์ประกอบของความสุข ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งของ สิ่งแวดล้อม สัมพันธภาพ หรือตัวตนของเรา อาทิเช่น เราใช้เงินที่หามาได้อย่างสุจริต ไปซื้อของขวัญวันเกิดและมอบของขวัญให้เพื่อน เพื่อนดีใจที่ได้รับของขวัญและเลี้ยงอาหาร เราสุขใจที่ได้มอบของขวัญและอิ่มท้องอิ่มใจที่เพื่อนเลี้ยงตอบแทน 

นั่นหมายความว่า เราต้องทำงานหาเงิน เพื่อนำเงินไปแลกเปลี่ยนกับการซื้อของขวัญ เราต้องมีเพื่อนและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเขา เกิดเป็นความรู้สึกเชิงบวก และสะท้อนกลับมาให้ชีวิตของเรามีความสุข

เมื่อประเมินความสุขอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว พบว่า ความสุขจากกิจกรรมเหล่านี้ ได้ตอบสนองความต้องการทางกายและความต้องการทางใจ ซึ่งอาจเทียบเคียงกับ ทฤษฎีความต้องการตาม 5 ลำดับขั้นของมาสโลว์ (Hierarchy of Needs) ได้แก่

  • ความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs) 
  • ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs) 
  • ความต้องการความรักและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Love and Belonging Needs)
  • ความต้องการที่จะได้รับการยอมรับว่าตนเองมีค่า (Esteem Needs)
  • ความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของตน (Self-Actualization Needs) 

ปฏิเสธไม่ได้เลย ความสุขทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากความต้องการทางกายภาพ อันสอดคล้องกับความต้องการด้านปัจจัยสี่ เหมือนคำกล่าวว่า หากยังไม่สามารถกินอิ่มนอนหลับ เราจะคิดถึงเรื่องอื่นๆ และมีความสุขได้อย่างไร และเมื่อคนเราสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้แล้ว ความต้องการในลำดับขั้นต่อไปยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งบางครั้งก็อาจจำเป็น แต่บางครั้งก็อาจไม่จำเป็น เพราะความสุขในชีวิตอาจเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ละคนก็มีระดับความพึงพอใจต่อความสุขไม่เท่ากันและแตกต่างกันไป


อย่างไรก็ตาม ถ้าตั้งสมมุติฐานว่า ชายคนหนึ่งทำงานที่ตนเองไม่ชอบและไม่มีความสุขเลย แต่เขาได้รับเงินเดือนสูงมากพอที่จะนำมาจับจ่ายเพื่อตนเองและครอบครัวที่เขารัก สามารถซื้อบ้าน รถยนต์ และสิ่งของเพื่ออำนวยความสะดวกสบายได้ ถือว่าเขามีความสุขแล้วหรือเปล่า

กลับไปมองชายคนนี้อีกครั้ง เขาทำงานหนักที่ตนเองไม่ชอบและไม่มีความสุข เพื่อนำเงินมาซื้อความสุขนอกกาย แต่ในท้ายสุด ร่างกายเขาทนไม่ไหว จิตใจทุกข์ทรมานเหมือนตายทั้งเป็น และต้องนำเงินที่หามาเพื่อรักษาฟื้นฟูสุขภาพและจิตใจ โอ้อนิจจา...สายไปแล้ว ร่างกายและจิตใจของเขาบอบช้ำจนไม่อาจเยียวยาได้ เขาจากโลกนี้ไปโดยไม่รู้ว่ามีความสุขแล้วหรือเปล่า 

ความย้อนแย้งจากการกระทำสิ่งที่ไม่มีความสุขเพื่อแสวงหาความสุขในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นความสุขจริงๆ หรือไม่? 

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องตอบตนเองให้ได้ เพราะสำหรับบางคน การยอมแลกเหตุบางอย่างเพื่อผลอีกอย่างหนึ่ง อาจคือความสุขของเขา แต่สำหรับบางคน ความสุขอาจเกิดขึ้นจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ใกล้ตัว และเป็นความสุขแบบพอเพียงที่ตนเองพอใจ 

เพราะฉะนั้น ก่อนจะบันทึกกิจกรรมต่างๆ ลงในสมุดบันทึกความสุขในแต่ละครั้งแต่ละวัน เราควรชั่งน้ำหนักแล้วว่า เป็นความสุขที่พึงพอใจโดยไม่โกหกตัวเอง มิเช่นนั้น สมุดบันทึกความสุขอาจไม่สัมฤทธิผลตามที่ควรเป็น


ความสุขทุกเมื่อเชื่อวัน

เคยมีความสุขในทุกวันจริงหรือเปล่า หลายคนอาจมองว่าเป็นไปได้ยากที่จะบันทึกความสุขได้ทุกวัน เพราะชีวิตของคนเราคละเคล้าด้วยความทุกข์และความสุข เชื่อเถิดว่า แม้กำหนดชีวิตไม่ได้ แต่เราทุกคนสามารถมองหาความสุขจากสิ่งที่เป็นอยู่ในแต่ละวัน เพื่อที่จะนำมาจดลงในสมุดบันทึกความสุขได้แน่นอน และบางวัน เราอาจประสบความสุขได้มากกว่า 3 ข้อ แต่การเลือกกิจกรรมความสุขได้เพียง 3 ข้อ ช่วยให้แน่ใจว่า สิ่งที่เราเลือกมาแล้ว ส่งผลให้ชีวิตมีความสุขจริงๆ 

ความมุ่งหมายของสมุดบันทึกความสุขคือ การลงบันทึกความสุขบนพื้นฐานตามความเป็นจริง จากแต่ละวันที่บันทึกความสุขเหล่านั้น จนครบ 365 วัน เราจะได้ตรวจสอบและทบทวนความสุขในชีวิต เราได้มองเห็นความสุขที่สะสมและก่อรูปก่อร่างขึ้น ซึ่งเป็นการค้นหาความสุขแบบเฉพาะตัว จนกลายเป็นคุณค่าและความหมายของชีวิต 

แล้วเราจะได้พบความสุขแท้จริงในชีวิตเสียที…





Our Products

Related Posts

Messenger Line