ในค.ศ.1968 ดร.สเปนเซอร์ ซิลเวอร์ (Spencer
Silver) นักเคมีของบริษัท 3M ต้องการที่จะคิดค้น “กาว”
ที่เหนียวที่สุดในระดับที่ไม่มีกาวอื่นสามารถทัดเทียมได้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ แต่ผลลัพธ์ของโครงการนี้ดันออกมากลับตาลปัตร เนื่องจากกาวที่เขาคิดค้นขึ้นมาไม่ใช่กาวที่เหนียวที่สุด
แต่เป็นกาวที่สามารถแกะออกได้ง่าย ๆ ด้วยมือโดยไม่สร้างความเสียหายต่อพื้นผิว
ถึงจะไม่สำเร็จตามที่หวังไว้ แต่ ดร.สเปนเซอร์ก็รู้ว่ากาวชนิดนี้จะต้องมีประโยชน์แน่
แต่จะใช้ทำอะไรนี่แหละปัญหา ด้วยความมุ่งมั่นเขาจึงพยายามหาทางใช้กาวชนิดนี้ให้ได้ไม่ว่าจะนานแค่ไหน
ดร.สเปนเซอร์ ซิลเวอร์
หลังจากผ่านมา 6 ปี ในที่สุดกาวของ ดร.สเปนเซอร์ก็ได้โอกาสที่จะเฉิดฉาย แต่ผู้ที่ค้นพบวิธีใช้ประโยชน์จากมันกลับไม่ใช่ผู้สร้างอย่าง ดร.สเปนเซอร์ แต่กลับเป็น อาร์เธอร์ ฟราย (Arthur Fry) หรือ อาร์ต ฟราย เพื่อนร่วมงานของ ดร.สเปนเซอร์ โดยเริ่มจากการที่เขาชอบไปร้องเพลงสวดที่โบสถ์เป็นประจำ เวลาที่เขาซ้อมร้องเพลงสวดเขาต้องดูเนื้อร้องไปด้วย แต่ที่คั่นหนังสือที่เขาสอดไว้ในเนื้อร้อง มักหล่นจากตัวเล่มเสมอ เขาจึงต้องการกาวที่สามารถติดแล้วแกะออกได้โดยไม่ทำให้หน้ากระดาษเสียหาย อาร์ตจึงนำกาวของดร.สเปนเซอร์มาใช้ ซึ่งมันก็ได้ผลอย่างเหลือเชื่อกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะนำกาวไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
อาร์เธอร์ ฟราย
ค.ศ.1977
หลังจากอาร์ตได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากกาวชนิดนี้อยู่ 3 ปีในที่สุดเขาก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่เขาต้องการ
ซึ่งนั่นก็คือกระดาษโพสต์อิทที่เรารู้จักกันนั่นเอง ณ ตอนนั้นใช้ชื่อว่า Press
‘n Peel. โดยทดลองจำหน่ายเพียงแค่ 4 เมืองเท่านั้น
แต่ผลตอบรับกลับออกมาน่าผิดหวัง สินค้าไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
2
ปีต่อมาทางบริษัทได้ให้โอกาสโพสต์อิทอีกครั้ง ด้วยการแจกตัวอย่างสินค้าฟรีที่เมืองบอยซี
รัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา ผลตอบรับกลับต่างจากครั้งแรกราวหนังคนละม้วน
โพสต์อิทได้รับการตอบรับอย่างถล่มทลาย 94% ของผู้ที่ได้ทดลองใช้มีความต้องการจะซื้อสินค้า
เหตุการณ์นี้ถูกขนานนามว่า The Boise Blitz
จากกระแสตอบรับอันล้นหลามส่งผลให้ในปีเดียวกันสินค้าถูกนำกลับมาจำหน่ายอีกครั้งทั่วอเมริกาโดยใช้ชื่อว่าโพสต์อิท
(Post-it) แทนชื่อเดิมอย่าง Press 'n Peel ต่อมาในปีค.ศ. 1980
โพสต์อิทได้ขยาย ตลาดใหม่สู่แคนาดาและยุโรปส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนในที่สุดโพสต์อิทก็กลายเป็นสินค้ายอดนิยมที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก
ใครจะไปคิดว่าผลผลิตจากความผิดพลาดจะกลายเป็นสินค้าที่มียอดขาย3.6 พันล้านเล่มต่อปีในปัจจุบัน สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัท 3M
มาตลอด 40 ปี
โพสต์อิทอาจเป็นแค่กระดาษแผ่นเล็ก
ๆ แต่เรื่องราวของมันกลับยิ่งใหญ่ผิดคาด
มันคือสัญลักษณ์ของการไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลว ถึงแม้จะเริ่มต้นมาด้วยความผิดพลาด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะผิดพลาดตลอดไป
เพราะตราบใดที่ความมุ่งมั่นยังไม่มอดดับไป สักวันต้องได้พบความสำเร็จอย่างแน่นอน