รูปเรขาคณิตเป็นรูปร่างพื้นฐาน แต่ใครจะคิดล่ะว่ารูปร่างง่าย ๆ เหล่านี้จะมีนัยที่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้รับสารได้อย่างไม่น่าเชื่อ! ก่อนจะมาพูดถึงรูปเรขาคณิต เราต้องเริ่มต้นกันที่ “รูปร่าง” นิยามของมันคือ สิ่งที่เห็นแต่เพียงขอบนอกเป็นกำหนด มีลักษณะจำกัดเพียงความกว้างกับสูง โดยแบ่งได้ 3 ชนิดคือ รูปร่างอิสระ รูปร่างอินทรีย์ และสุดท้ายรูปเรขาคณิตที่เราจะพูดถึงกันนั่นเอง
รูปเรขาคณิต
คือ รูปร่าง ที่มีความกว้างและความยาวที่สามารถวัดค่าได้ มีลักษณะเป็น 2 มิติ
อย่าจำสับสนกับ “รูปทรง” ที่มีทั้งความกว้าง ความยาว และความลึกมองเห็นเป็น 3
มิติ รูปเรขาคณิตจะถูกจำแนกเป็น 4 ประเภท
1.วงกลม
วงกลมนั้นให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง
เป็นรูปร่างที่นำเสนอถึงธรรมชาติเพราะพบได้บ่อยที่สุดตามธรรมชาติ เช่น พระอาทิตย์
พระจันทร์ หิน ผลไม้ ฯลฯ นำเสนอภาพของการวัฏจักรหรือการวนเวียน เนื่องจากเป็นรูปร่างที่ไร้จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด
ดูเป็นมิตรและสบายตาเนื่องจากไม่มีเหลี่ยมมุม
มักใช้ในงานออกแบบที่เจาะกลุ่มเด็กเป็นหลักหรืองานที่เน้นความสบายตา
2.สามเหลี่ยม
เป็นรูปร่างที่มีจำนวนเหลี่ยมตามชื่อแต่เหลี่ยมของสามเหลี่ยมยังสื่อถึงความแหลมคมคล้ายกับฟันของสัตว์นักล่าหรือของมีคมจึงให้ความรู้สึกอันตราย ส่งผลให้สามเหลี่ยมมักถูกใช้ออกแบบป้ายเตือนอันตรายต่าง ๆ แต่ถ้าเราเติมเส้นใส่สามเหลี่ยมภาพสามเหลี่ยมจะสื่อถึงทิศทางทันที
นอกจากนี้การจัดวางยังส่งผลต่อความรู้สึกที่ต่างกันอีกด้วย
ถ้าตั้งสามเหลี่ยมฐานคว่ำจะให้ความรู้สึกถึงความมั่นคงแข็งแรงและความสูงส่ง แต่ถ้าเป็นสามเหลี่ยมฐานหงายจะให้ความรู้สึกไม่มั่นคงหรือความไม่แน่นอน
3.สี่เหลี่ยมและสี่เหลี่ยมผืนผ้า
เป็นรูปร่างที่มนุษย์ใช้งานมากที่สุด เกิดจากเส้นตรงทั้ง 4 เส้นมาบรรจบกันให้ความรู้สึกมั่นคงไม่เคลื่อนที่ นิยมใช้ในการออกแบบอาคาร
ตู้ กล่อง หรือสิ่งที่มีความแข็งแรง สื่อถึงความปลอดภัยและความแน่นหนาตามลักษณะที่เป็นกรอบ อีกทั้งยังสื่อถึงความเป็นทางการน่าเชื่อถือ มักใช้ในการออกแบบป้ายหรือสื่อที่ต้องให้ข้อมูล
4.รูปหลายเหลี่ยม
หมายถึงรูปร่างที่มีมากกว่าสี่เหลี่ยม เช่น ห้าเหลี่ยมหรือหกเหลี่ยม เป็นรูปร่างที่สื่อถึงความเป็นระบบและความแข็งแรงเนื่องจากเป็นรูปร่างที่สามารถพบได้ในโครงสร้างของรังผึ้งและบนใยแมงมุม เทียบกับรูปร่างอื่นแล้วมีการใช้น้อยกว่าจึงให้ความรู้สึกแปลกใหม่ในงานออกแบบต่าง ๆ
ความหมายที่แฝงอยู่ในรูปเรขาคณิตเหล่านี้เป็นผลมาจากการใช้สัญชาตญาณของมนุษย์มาชี้นำการรับรู้
หากใช้ความรู้เหล่านี้ในการสร้างผลงานศิลปะและงานออกแบบก็จะช่วยยกระดับและเพิ่มมิติให้กับตัวงาน
หรือนำไปใช้ในการชมงานศิลป์อาจทำให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ เรียกได้ว่าเป็นองค์ความรู้ที่มีติดตัวไว้ไม่ขาดทุนอย่างแน่นอน