Helvetica (เฮลเวติกา): เรื่องคุ้นๆ ของฟอนต์ที่คุณเคยเห็นมาก่อน

Helvetica (เฮลเวติกา): เรื่องคุ้นๆ ของฟอนต์ที่คุณเคยเห็นมาก่อน

Design Inspiration | 17 Oct 2023

2,384 Views

ในทุกๆ วันเราต้องอ่านข้อความ สัญลักษณ์ ฉลาก หรือป้ายต่างๆ จะพบว่าข้อความเหล่านั้นใช้แบบอักษร (Font) หรือฟอนต์ หลายรูปแบบหลายไตล์ นอกจากทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลแล้ว ฟอนต์เป็นเหมือนนายแบบหรือนางแบบที่กำลังถ่ายทอดบุคลิกอันเป็นเอกลักษณ์และสร้างสุนทรียะในการอ่าน ตัวอย่างเช่น ตอนที่เราเห็นฟอนต์บนโปสเตอร์ภาพยนตร์ระทึกขวัญกับฟอนต์บนภาพยนตร์สำหรับเด็ก แค่มองปราดเดียว ก็รู้ทันทีว่า “หนังผี” หรือ “การ์ตูนดิสนีย์”

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง บนโลกมีฟอนต์ใช้กันมากมายเกินกว่าจะนับไหว แต่ก็ยังเรื่องราวของฟอนต์หน้าตาธรรมดาๆ ชุดหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นภาพจำของโลโก้แบรนด์ดังที่ทุกคนรู้จัก ใช้พิมพ์บนป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งยังเป็นฟอนต์ระบบในอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารต่าง จนกล่าวได้ว่าฟอนต์นี้เป็นหนึ่งในฟอนต์ยอดนิยมของโลกเลยก็ว่าได้

หากจะไปค้นหาคำตอบว่าฟอนต์ชุดที่ว่านี้มีความเป็นมาอย่างไร เราคงต้องย้อนกลับไปเมื่อราวๆ 66 ปีก่อน ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

กว่าจะเป็น Helvetica

ปลายปี 1956 ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เอดูอาร์ ฮอฟฟ์มัน (Eduard Hoffman) เจ้าของสำนักออกแบบฟอนต์ ฮาส ไทป์ ฟอนดรี (Haas Type Foundry) ร่วมกับ แม็กซ์ มีดิงเกอร์ (Max Miedinger) เกิดไอเดียอยากสร้างแบบอักษรชุดใหม่ โดยตั้งใจออกแบบให้ฟอนต์นี้ดูทันสมัยตามแนวทางสวิสสไตล์ (Swiss Style) ซึ่งโดดเด่นในเรื่องดีไซน์ที่เรียบง่าย เป็นระเบียบ เพราะด้วยอิทธิพลจาก เบาเฮาส์ (Bauhaus) จึงทำให้สวิสสไตล์ให้ความสำคัญกับแก่นแท้ของผลงานมากกว่าการแสดงอารมณ์ออกมาอย่างชัดเจน เน้นย้ำในเรื่องความเรียบง่าย ร่วมสมัย และใช้งานได้จริง 

Image Credit: Helvetica (2007) Documentary

ทั้งสองนำฟอนต์จากยุคศตวรรษที่ 19 แอคซิเดนซ์ โกรสเทสก์ (Akzidenz Grostesk) มาปรับปรุงใหม่ให้สมมาตรและโค้งกลมยิ่งขึ้น เมื่อฟอนต์เสร็จสมบูรณ์ ฮอฟฟ์มันตั้งชื่อฟอนต์นี้ว่า นอยเออ ฮาส โกรเทสก์ (Neue Haas Grotesk) และจัดจำหน่ายในรูปแบบบล็อกพิมพ์โลหะให้กับศูนย์เรียงพิมพ์หลายแห่งในยุโรป 

ต่อมาในปี 1961 ชเต็มเปล (Stempel) บริษัทแม่ของฮาส ไทป์ ฟอนดรี ต้องการนำ นอยเออ ฮาส โกรเทสก์ เข้าไปจำหน่ายในเยอรมนี แต่ก่อนอื่นฟอนต์นี้จะต้องใช้ชื่ออื่น เพื่อให้รู้ว่าเป็นฟอนต์ที่ออกแบบในสวิตเซอร์แลนด์ และมีความเป็นสวิสสไตล์ ฮอฟฟ์มันเสนอชื่อ เฮลเวเทีย (Helvetia) แต่ชื่อนี้ซ้ำกับชื่อยี่ห้อเครื่องพิมพ์ดีดและจักรเย็บผ้า ท้ายที่สุด จึงตั้งชื่อฟอนต์นี้ว่า เฮลเวติกา (Helvetica) เป็นคำที่ได้มาจากชื่อเต็มภาษาละตินของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Confœratio Helvetica) 

Image Credit: MoMA

เมื่อใครๆ ก็ใช้เฮลเวติกา

ช่วงต้นทศวรรษ 1960 สื่อสิ่งพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาเริ่มหันมาใช้ฟอนต์เฮลเวติกา หลังจากที่เหล่านักออกแบบกำลังมองหาทิศทางการออกแบบใหม่ๆ และเริ่มเบื่อหน่ายกับฟอนต์แบบมีเชิง (Serif) และลายมือแบบเขียน (Handwritten) ซึ่งเป็นองค์ประกอบจากยุคก่อนหน้า 

แบรนด์แรกๆ ที่ใช้เฮลเวติกาเป็นฟอนต์โปรยข้อความโฆษณา คือ โคคา-โคล่า ตอบรับกระแสโมเดิร์นดีไซน์ที่กำลังเฟื่องฟูในต้นยุค 60 ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาพโปสเตอร์โฆษณาของโคคา-โคล่าจากยุค 50 กับยุค 60 ในสหรัฐอเมริกานั้นดูแตกต่างกันโดยไม่เหลือเค้าเดิม

Image Credit: Christian Montone's Flickr

หลังจากนั้นเป็นต้นมา นักออกแบบและแบรนด์ในอเมริกาต่างพากันเปลี่ยนไปใช้ฟอนต์เฮลเวติกา หรือฟอนต์ไม่มีเชิงตัวอื่นที่ดูคล้ายๆ กันในสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้เฮลเวติกลายเป็นฟอนต์ที่ “แมส” ด้วยความเรียบง่ายแต่ทันสมัยของสวิสสไตล์ที่ขายได้ตลอด ทำให้ในช่วงเวลานี้หลายแบรนด์ได้ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ฟอนต์แบบเฮลเวติกาในอัตลักษณ์องค์กร มีคุณสมบัติที่โดดเด่นของเฮลเวติกาคือสร้างความน่าเชื่อถือใช้ข้อความ มีรูปทรงและสไตล์ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ดูทันสมัย อีกทั้งยังประยุกต์ใช้กับงานหลายประเภทได้

ในปี 1966 เฮลเวติกาเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวนิวยอร์ก เมื่อการรถไฟฟ้านิวยอร์กได้ว่าจ้างให้ดีไซเนอร์ แมสซิโม วิเญลลิ (Massimo Vignelli) ทำการออกแบบสัญลักษณ์และป้ายบอกทางในสถานีใหม่เพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้เป็นสากล ข้อความมีความโดดเด่นผู้โดยสารเห็นได้อย่างชัดเจนในทันที และวิเญลลีได้เลือกเฮลเวติกาเป็นฟอนต์หลักของป้ายบอกทางและแผนที่ในทุกสถานี 


Image Credit: Helvetica (2007) Documentary

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ แทนการเรียงพิมพ์แบบดั้งเดิม บล็อกโลหะของชุดแบบอักษร “เฮลเวติกา” ได้ถูกแปลงเป็นไฟล์ฟอนต์คอมพิวเตอร์ ในปลายยุค 1980 ความนิยมในเฮลเวติกายิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด ที่เราสามารถพบเห็นเฮลเวติกาในสื่อรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่โฆษณา หน้าจอโทรทัศน์ หนังสือ ที่ผู้คนเห็นจนคุ้นชิน กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมป็อบคัลเจอร์ เพราะแบรนด์ดังๆ ระดับโลกมักใช้ฟอนต์ตัวนี้ในโลโก้แบรนด์ หรือแม้แต่ในโลโก้ซีรีย์หรือภาพยนต์ด้วย

Image Credit: Brand Courtesy

 

19 ปีต่อมา ในปี 2007 เฮลเวติกาได้ถูกใช้เป็นฟอนต์แสดงผลอักษรโรมันบนไอพอดทัชรุ่นแรก จากนั้นได้ใช้เฮลเวติกา นอยเออ ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับการแสดงผลบน iOS และ macOS อยู่หลายปีจนเลิกใช้ไปในปี 2015 เชื่อว่าผู้ใช้ไอโฟนในระหว่างปี 2008 – 2015 ต้องเคยเห็นเฮลเวติกาบนไอโฟนมาบ้างแล้ว 

 

ลักษณะเด่นของเฮลเวติกา

 

สิ่งที่ทำให้เฮลเวติกามีความโดดเด่นคือน้ำหนักและสัดส่วนที่พอดี ดูกลางๆ สามารถปรับใช้ได้ในงานทุกประเภท ทำให้ภาพรวมของ เนื้อความ ดูเป็นระเบียบ ทันสมัย เรียบง่าย มีองค์ประกอบหลายจุดไม่ได้แตกต่างไปจากฟอนต์ไม่มีเชิง  (Sans serif)  ทั่วไปมากนัก


 

 

สวยแต่ยังอาจดีไม่พอ

แม้จะถูกออกแบบให้สวยงามเรียบง่ายตามแบบฉบับสวิสสไตล์ แต่ในแง่ของการใช้งานจริงนั้น เฮลเวติกากลับได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ค่อยดีนักจากนักอ่าน เห็นได้ชัดจากกรณีของแอปเปิลเองที่เลือกใช้ เฮลเวติกา นอยเออ ไลท์ เป็นฟอนต์หลักของระบบหลังการปรับดีไซน์ใน iOS 7 และ macOS El Capitan ในเวลานั้นผู้ใช้งานหลายคนต่างบ่นอุบ เพราะทำให้ข้อความบนหน้าจออ่านยาก อ่านได้ช้าลง และดูไม่คมชัด ปัจจุบันแอปเปิลได้เลิกใช้ฟอนต์ตัวดังกล่าวแล้ว

Image Credit: Techmoblog

ในบล็อกส่วนตัวของ เอริค ชปีเกอร์มันน์ (Erik Spiekermann) นักออกแบบฟอนต์ชาวเยอรมันวิจารณ์ว่าเฮลเวติกามี ข้อด้อยเมื่อใช้แสดงผลบนหน้าจอขนาดเล็ก เช่น ตัวอักษรตัวสำคัญที่ใช้บ่อย มีลักษณะเป็นเส้นตรงและมีน้ำหนักเส้นใกล้เคียงกัน เช่น เลขหนึ่ง (1) ตัวไอเล็ก (i) ตัวแอลเล็ก (l) และตัวไอใหญ่ (I) เมื่อมีขนาดน้อยกว่า 13 พอยต์ จะดูคล้ายกันจนไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของตัวอักษรที่กล่าวมานี้ จึงเป็นสาเหตุของการอ่านช้ากว่าฟอนต์ไม่มีเชิง

Image Credit: Spiekerblog

 

นอกจากนี้ ช่องไฟแคบที่แคบกว่าปกติเป็นอุปสรรคในการอ่านเนื้อความ เพราะมันถูกออกแบบให้เป็นฟอนต์สำหรับวางข้อความพาดหัว (Headline) ตั้งแต่แรก แถมดีไซเนอร์หลายคนยังเห็นว่าเฮลเวติกา คือร่างโคลนของแอคซิเดนซ์ โกรสเทสก์ ที่ ดูเชยและจืดชืด ที่นิยมใช้กันแค่ในองค์กรที่อยากดูเป็นคนสมัยกันเต็มไปหมด 

ทุกวันนี้เรายังสามารถพบเห็นเฮลเวติกาได้อยู่ทั่วไปในบรรดาโลโก้แบรนด์ดังต่างๆ แต่ในบางบริษัทเริ่มเลิกใช้เฮลเวติกาด้วยเหตุผลด้านค่าลิขสิทธิ์การใช้ที่ค่อนข้างสูง อย่างเช่นกรณีของ ไอบีเอ็ม ที่ยุติการใช้เฮลเวติกาในบริษัทตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการใช้ง่ายต่อปีสูงถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ   

Image Credit: Printmag.com

ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปีแบรนด์เสื้อผ้าไลฟ์สไตล์ GAP เคยพยายามปรับโลโก้ใหม่จากของเดิมให้ดูทันสมัยด้วยเฮลเวติกา แต่กลายเป็นได้รับ กระแสความไม่พอใจ จากลูกค้าสายอนุรักษ์นิยมที่ไม่คุ้นกับโลโก้ใหม่  ซึ่งนอกจากจะทำลายบุคลิกเดิมของแบรนด์แล้ว ลูกค้ายังให้ความเห็นว่าโลโก้ใหม่นี้ดูเหมือนๆ กับแบรนด์อื่นมากเกินไป บางรายขู่ว่าจะไม่ซื้อของที่นี่เลยทีเดียว สุดท้ายแล้วทางแบรนด์ก็ต้องยอมถอยกลับมาใช้โลโก้เดิมมาจนถึงทุกวันนี้

บทส่งท้าย

แม้จะเป็นเวลากว่า 60 ปี แต่เฮลเวติกายังคงครองโลกเสมอมา และจะยังอยู่ในใจของนักออกแบบ เฮลเวติกาจะยังคงไม่หายไปไหนในฐานะที่เป็นฟอนต์ลูกรักสารพัดประโยชน์ แต่เป็นธรรมดาที่ว่าเมื่อมีคนชอบย่อมมีคนไม่ชอบด้วยเช่นกัน เพราะว่าเรื่องสุนทรียะและความงามนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล การเลือกใช้แบบอักษรสักตัวในงานออกแบบจำเป็นต้องคำนึงวัตถุประสงค์ การจัดวางที่สวยงาม และความเหมาะสม จึงจะทำให้การสื่อสารนั้นได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ สร้างความประทับใจแก่ผู้รับสารในเพียงแค่พริบตาเดียว

Our Products

Related Posts

Messenger Line