"ออฟฟิศซินโดรม" ภัยเงียบที่ถูกมองข้าม

"ออฟฟิศซินโดรม" ภัยเงียบที่ถูกมองข้าม

Living Style | 14 Jul 2023

409 Views

การเจ็บป่วยถือเป็นเรื่องไม่น่าอภิรมย์นัก ถึงแม้จะพยายามหลีกเลี่ยงโรคภัยยังไงก็ไม่มีทางหนีพ้น เพราะบางครั้งกิจวัตรประจำวันของเราก็ก่อให้เกิดโรคได้โดยไม่รู้ตัว เช่น โรค “ออฟฟิศซินโดรม” ที่จะมาพูดถึงกันในวันนี้ เรามาลุ้นกันว่าคุณตกเป็นเหยื่อของโรคนี้รึยัง?

ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร?

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือกลุ่มอาการปวดเมื่อยบริเวณคอ บ่า หลัง และอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่เกิดจากการนั่งท่าเดิมต่อเนื่องวันละหลายชั่วโมงโดยแทบไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งส่วนมากมักเกิดกับพนักงานออฟฟิศจึงกลายเป็นที่มาของชื่อโรคนั่นเอง

อาการของออฟฟิศซินโดรม

มักจะเริ่มจากอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ  ซึ่งอาจมาไม่พร้อมกัน ส่งผลให้เกิดการละเลยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นอาการป่วยเรื้อรังที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคร้ายแรง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท  กระดูกสันหลังคด  หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น ฯลฯ 

ออฟฟิศซินโดรมประกอบไปด้วยอาการเหล่านี้

  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ปวดรอบดวงตาและตาแห้ง
  • ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น คอ บ่า หลัง ข้อมือ
  • นิ้วล็อก
  • เกิดอาการชาที่มือ เท้า เป็นระยะ ๆ


ภาพจาก freepik.com

หากมีอาการข้างต้น (ไม่ต้องครบทุกข้อ) ต่อเนื่องบ่อย ๆ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที ถึงโรคนี้จะมีการรักษาหลากหลายวิธี แต่การปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะกับเราที่สุดก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะแต่ละคนมีสรีระและพฤติกรรมแตกต่างกัน ฉะนั้นควรรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดจะดีที่สุด

วิธีการป้องกันออฟฟิศซินโดรม

  • จัดท่านั่ง โดยนั่งหลังตรงไม่งอหลัง แขนควรวางพาดไปบนโต๊ะ คีย์บอร์ดไม่ชิดไม่ห่างตัวเกินไป หน้าจอต้องไม่อยู่ในระดับที่ต้องก้มหรือเงย นั่งให้หลังชิดพนักพิง
  • จัดที่นั่ง เลือกเก้าอี้ที่เหมาะสมกับสรีระ ไม่เตี้ยไม่สูงเกินไป และมีความสูงสัมพันธ์กับโต๊ะทำงาน
  • หมั่นขยับตัว เปลี่ยนท่านั่งทุก 1-2 ชั่วโมง สามารถเปลี่ยนมุมของเก้าอี้ที่หันเข้าโต๊ะได้
  • ยืดเส้นยืดสาย อาจจะลุกมายืดเส้นสายทุกชั่วโมง เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อยึดตัว
  • พักสายตา ควรหาเวลาละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นช่วง ๆ แต่ไม่ใช่การหลบจอคอมแล้วมาจ้องโทรศัพท์แทน ช่วงพักสายตาควรหลับตาหรือมองทิวทัศน์รอบตัว
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับให้เพียงพอ สัก 7-9 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้รับการพักผ่อน เมื่อหัวถึงหมอนก็ไม่ควรใช้โทรศัพท์เพราะคุณจะต้องยืดคอเพื่อดูโทรศัพท์ขณะนอน
  • หมั่นออกกำลังกาย ควรหาเวลาว่างออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ

ภาพจาก freepik.com

หากปฏิบัติได้ทั้งหมดจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดออฟฟิศซินโดรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ออฟฟิศซินโดรมดูเหมือนจะเป็นโรคที่สามารถเกิดกับใครก็ได้ง่าย ๆ กลายเป็นภัยเงียบที่มาเยือนเราโดยที่ไม่รู้ตัว แต่ในทางกลับกันถ้าเรารู้จักมันแล้วเราก็สามารถป้องกันได้ไม่ยากหากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย  ซึ่งการไม่เจ็บไม่ป่วยถือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการอยู่แล้ว ดั่งที่พุทธศาสนสุภาษิตได้กล่าวไว้ว่า "อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" เพราะฉะนั้นเราควรใส่ใจสุขภาพเป็นอย่างแรก อย่าเอาแต่จับจ้องงานจนมองข้ามตัวเอง



Our Products

Related Posts

Messenger Line