การจดบันทึกองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปถือเป็นความสามารถเฉพาะของมนุษย์ที่สัตว์อื่นไม่สามารถปฏิบัติหรือเลียนแบบได้ ด้วยทักษะการจดบันทึกส่งผลให้เกิดสมุดบันทึกและหนังสือขึ้นมาตามลำดับ เมื่อพูดถึงการจดบันทึกก็จะนึกถึงกระดาษแต่สงสัยกันรึเปล่าว่าก่อนที่กระดาษจะแพร่หลายไปทั่วโลก คนสมัยก่อนเขาจดบันทึกใส่อะไร? วันนี้เราจะมาเล่าถึงวัสดุอื่น ๆ ที่มนุษย์ใช้จดบันทึกแทนกระดาษในยุคโบราณ
1.แผ่นจารึก
ถือเป็นวิธีการจดบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดโดย "แผ่นจารึก" (Tablet) คาดว่ามีการเริ่มใช้ในช่วง 3,500-3,000 ปีก่อนคริสตกาล แผ่นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดเป็นของอารยธรรมเมโสโปเตเมียที่สร้างจากการนำดินเหนียวมาปั้นเป็นแผ่นแล้วสลัก อักษรลิ่ม (Cuneiform) ลงไปบนแผ่นดินเหนียวที่ยังไม่แห้ง จากนั้นก็นำแผ่นจารึกไปตากแดดหรือผิงไฟเพื่อให้แผ่นจารึกแข็งตัวส่งผลให้ตัวอักษรติดอยู่บนแผ่นจารึกถาวร ยังมีการค้นพบว่าจารึกบางแผ่นทำจากทองอีกด้วย แม้ภายหลังกระดาษจะเริ่มเข้ามาแย่งความนิยม แต่แผ่นจารึกยังมีการใช้อยู่จนถึงศตวรรษที่ 19 ในอารยธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก
2.หนังสัตว์
หนังสัตว์ที่ใช้สำหรับจดบันทึกเรียกว่า “ปาร์ชเมนต์” (Parchment) มีต้นกำเนิดมาจากจากกรีกโบราณในช่วง 500-200 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคนั้นมีกระดาษปาปิรุส (Papyrus) ใช้แล้วก็จริง แต่ในยุคนั้นปาปิรุสขาดแคลน จึงมีการใช้หนังสัตว์ที่หาง่ายกว่าแทน แต่กระบวนการผลิตถือว่ายุ่งยากกว่ากระดาษ โดยการนำหนังสัตว์จำพวกแพะหรือแกะมาลอกขนออกจนเกลี้ยง แล้วนำไปล้างให้สะอาดแล้วพึ่งให้แห้ง จากนั้นก็นำไปขึงบนกรอบไม้เพื่อทำให้หนังสัตว์บางลงแล้วจึงนำมาใช้งาน ปาร์ชเมนต์ใช้เช่นเดียวกับกระดาษด้วยการใช้หมึกเขียนลงบนแผ่นหนัง ปาร์ชเมนต์มีการใช้อย่างแพร่หลายในโลกตะวันตกจนกระทั่งเสื่อมความนิยมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15
3.กระดานขี้ผึ้ง
"กระดานขี้ผึ้ง" (wax tablet) มีต้นกำเนิดจากกรีกและโรมันราว 200 ปีก่อนคริสตกาล มีลักษณะเป็นแผ่นไม้สี่เหลี่ยมจะมีร่องสี่เหลี่ยมตรงกลางไว้สำหรับเคลือบขี้ผึ้ง วิธีการใช้งานคือการใช้แท่งไม้แหลมที่เรียกว่า สไตลัส (stylus) ขีดเขียนลงบนขี้ผึ้งส่วนมากใช้ในการเรียนการสอนและการคำนวณอันเนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของกระดานขี้ผึ้งคือสามารถลบและเขียนข้อความใหม่ได้ กระดานขี้ผึ้งมีการใช้จนถึงช่วง ค.ศ.1860 ที่สุดท้ายที่พบคือฝรั่งเศส
4.ม้วนไม้ไผ่
มีต้นกำเนิดจากจีนในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล ด้วยการตัดไม้ไผ่แห้งเป็นซี่เล็ก ๆ แล้วนำมาร้อยรวมกันเป็นม้วนด้วยด้ายหรือหนัง ใช้งานด้วยการใช้หมึกเขียนลงบนม้วนไม้ไผ่รอให้หมึกแห้งแล้วม้วนเป็นทรงกระบอกเพื่อเก็บรักษา เสื่อมความนิยมลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1 หลังจากที่จีนค้นพบวิธีผลิตกระดาษ และไม่มีการใช้ม้วนไม้ไผ่อีกเลยนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา
จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะไม่มีกระดาษก็ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับมนุษย์ที่จะจดบันทึกภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากที่ผู้คนในอดีตมีความมุ่งมั่นที่จะส่งต่อภูมิปัญญาให้แก่คนรุ่นต่อ ๆ ไปจนเป็นที่มาของสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้
ที่มาภาพ:- https://www.canva.com/
- https://pixabay.com/illustrations/map-of-the-world-old-parchment-2241469/
- https://pngtree.com/freepng/ancient-book-bamboo-slips_6793399.html