เดิมทีการจดบันทึกของเรานั้นมักจะเป็นการเขียนตามลำดับวันเวลา เขียนไปทีละหน้าตามแบบแผนของหน้ากระดาษ มีแต่ข้อความยาว ๆ ที่ไร้สีสัน ทำให้รู้สึกน่าเบื่อในทุกครั้งที่หยิบบันทึกของตัวเองมาอ่าน นอกจากนี้ การจดบันทึกแบบเดิม ๆ ที่มีแต่ข้อความนั้น เป็นการจดบันทึกที่มีแต่เนื้อหา ทำให้ยากต่อการกลับมาค้นหาข้อความสำคัญที่บันทึกเพื่อเตือนความจำ ถ้าหากเราปรับเปลี่ยนรูปแบบการจดบันทึกให้รองรับกับการใช้งานที่เฉพาะตัว ก็จะทำให้การจดบันทึกของเราไม่น่าเบื่อแบบเดิมอีกต่อไป
Bullet Journal คือการจดบันทึกอย่างอิสระ โดยมีการผสมผสานลักษณะการบันทึกแบบ diary, planner และ list idea ต่าง ๆ เพียงแค่ใช้สมุดบันทึกธรรมดามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการจดบันทึกในแบบตามใจคิด แต่งเติมความคิดสร้างสรรค์ได้ตามไลฟ์สไตล์เฉพาะตัวของตัวเอง
ลักษณะของการจดบันทึกแบบ Bullet Journal นั้นเรียบง่าย สามารถออกแบบการจดบันทึกได้ตามแต่ใจนึก เราสามารถใช้สมุดแบบไหนก็ได้ในการใช้งาน โดยมีเทคนิคที่เรียกว่า Rapid Logging ในการประกอบการจดบันทึก ซึ่งมีส่วนประกอบ ได้แก่ Topics – หัวข้อที่ต้องการจดบันทึกตามความต้องการของเรา Page Number – ใส่เลขหน้า และทำสารบัญ เพื่อความเป็นระเบียบและทำให้เราค้นหาหัวข้อที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย Bullets – สัญลักษณ์ที่ใช้ประกอบกับข้อความสั้น ๆ ช่วยในการแบ่งประเภทของข้อความ เช่น งานที่ได้รับมอบหมาย เหตุการณ์สำคัญ และบันทึก และช่วยในการแสดงความก้าวหน้าหรือความสำคัญของกิจกรรมที่เกิดขึ้นด้วย
ตัวอย่างเทคนิค Rapid Logging ในการประกอบการจดบันทึก
ตัวอย่างของสัญลักษณ์ที่ใช้ เช่น
x หรือ complete ทำเสร็จตามเป้าหมายแล้ว
> งานที่ต้องทำต่อเนื่องหรือยังไม่เสร็จสิ้น
* งานที่มีความสำคัญ
O เหตุการณ์สำคัญ
– บันทึกทั่วไป
ทั้งนี้ สัญลักษณ์ดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความถนัดของเรา เพื่อให้บันทึกนี้เป็นการบันทึกที่มีการใช้งานและได้จัดระบบความคิดอย่างที่เราต้องการ
อย่างที่บอกว่า Bullet Journal สามารถออกแบบอะไรและอย่างไรก็ได้ นั่นหมายถึงเราสามารถออกแบบได้ว่าเราจะจดเรื่องประเภทใดก็ได้ ความสนใจ ความถนัด ความชอบ สิ่งที่ต้องทำ สิ่งที่อยากทำ หรือเรื่องอะไรก็ได้ การเรียน สุขภาพ การเงิน ช่วงเวลาสำคัญ งานอดิเรกต่าง ๆ เป็นการที่ให้เราได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และแสดงพื้นที่ความคิดของตัวเองได้อย่างเต็มที่
การใช้สัญลักษณ์แบ่งหัวข้อของการจดบันทึก เพื่อการจัดระบบความคิดได้ตามต้องการ
การจดบันทึกเปรียบเสมือนการได้เรียบเรียงความคิดต่าง ๆ ในสมองออกมา จัดระเบียบความคิดในสมองของเรา คล้ายกับการจัดเก็บสิ่งของให้เป็นระบบ ในที่นี้ คือชุดความคิดของเรา ทำการจัดเก็บเข้าลิ้นชักเพื่อแยกประเภทตามหัวข้อหรือลำดับความสำคัญ เหมือนเป็นการจัดการความคิดให้เข้ารูปเข้ารอยและเป็นระบบ ทำให้เรารู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น ช่วยเตือนความจำ ทำให้กำหนดเป้าหมายในแต่ละวันว่าต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง รู้จักการวางแผนในการใช้ชีวิต และจัดการชีวิตได้ดีมากขึ้น
การเรียนรู้ที่ดีนั้นเกิดจากการทำความเข้าใจ ซึ่งการเขียนเป็นการเริ่มต้นที่ช่วยให้เรารับฟัง ประมวลผล เข้าใจ และสรุปความได้ดีมากขึ้น การสร้างนิสัยชอบจดให้ตัวเองนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันจะช่วยให้เราจัดการความคิดตัวเองได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ได้อีกด้วย
ฉะนั้น คงเป็นการดีที่เราจะมีสมุดที่สามารถแต่งเติมความคิดสร้างสรรค์ให้กับการเขียนบันทึกของตัวเอง ด้วยการจดบันทึกในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อการเขียนที่สนุก และสร้างแรงบันดาลใจให้มากกว่าเดิม
เป็นอิสระในการบันทึกของเราอย่างแท้จริง