บูชิโดสไตล์! คัดแยกขยะ 45 ประเภทแบบชาวเมืองคามิคาซึ

บูชิโดสไตล์! คัดแยกขยะ 45 ประเภทแบบชาวเมืองคามิคาซึ

Social Environment | 17 Jul 2020

2,837 Views

สถานการณ์ขยะล้นเมืองหลังวิกฤต COVID-19 ทำให้การคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ซึ่งบ้านเรามีการณรงค์กันมาระยะเวลาหนึ่ง ขณะนี้ ถูกบรรจุว่าสมควรเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตแบบ New Normal อย่างเต็มรูปแบบ ถุงคัดแยกขยะที่ถูกแบ่งประเภทด้วยสีสันต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราไม่ต่างจากถุงผ้าที่ทุกคนต้องมีติดร่างไว้ถ้าไม่อยากหอบข้าวของจากซูเปอร์มาร์เก็ตเหมือนคนบ้า และหากท่านเป็นผู้หนึ่งที่กำลังเริ่มต้นคัดแยกขยะก่อนทิ้งอย่างจริงจัง แต่ยังนึกไม่ออกว่าจุดหมายปลายทางของกิจวัตรใหม่นี้จะนำไปสู่มรรคผลใด… เราอยากให้ท่านได้แรงบันดาลใจจากวิวัฒนาการคัดแยกขยะกว่า 3 ทศวรรษของชาวเมืองคามิคาซึ ประเทศญี่ปุ่น จากจุดเริ่มต้นถึงวันนี้ ชาวเมืองสามารถยกระดับการคัดแยกขยะได้ละเอียดยิบถึง 45 ประเภท โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่การกำจัดขยะไร้ค่าให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ภายในปี 2020… 


เมืองคามิคาซึ ตำบลเล็ก ๆ บนเนินเขาบนเกาะชิโกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ประชากรราว 2 พันกว่าคนต่างคลั่งไคล้จริงจังกับการจัดเก็บและกำจัดขยะ เหมือนกับเมืองอื่น ๆ ในญี่ปุ่น การเริ่มต้นคัดแยกขยะเป็นกิจจะลักษณะเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1993 แต่ด้วยนิสัยชอบเผาขยะในบ้านตามประสาคนญี่ปุ่นแต่โบราณ ขยะที่ไม่ได้ถูกคัดแยกก็ยังคงถูกนำไปเผาอยู่ได้หลายปีดีดัก จนก๊าซเรือนกระจกปกคลุมน่านฟ้าเมืองคามิคาซึ กระทั่งชาวเมืองลงมติร่วมกันว่าจะต้องเลิกกำจัดขยะด้วยการเผา และเปลี่ยนไปใช้แนวคิด “Zero Waste” แทน

แน่นอน มันดูเป็นเรื่องงี่เง่ามาก ๆ สำหรับคนที่เพิ่งจะหันมาหัดล้างขยะ แยกขวดแก้ว-ขวดพลาสติก-ฝาขวด และจำแนกถังขยะเป็นหมวดหมู่เพื่อชู้ทขยะเหล่านั้นลงไป โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นซึ่งมีบรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวันมากคณา นอกจากต้องจำแนกประเภทตามวัสดุแล้ว ยังต้องมานั่งแกะฉลากพลาสติก ล้างทำความสะอาดอีก หรือแม้แต่ขยะประเภทกระดาษ ถ้าเป็นบ้านเราก็โกย ๆ มาแล้วตะโกนเรียกซาเล้ง เป็นอันจบ... แต่ชาวเมืองคามิคาซึบอกนั่นหยาบไป พวกเขาบรรจงจำแนกแยกย่อยอย่างประณีต เสร็จแล้วจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ ผูกมัดด้วยเชือกอย่างสวยงามตามสไตล์บูชิโด


เนื่องจากบ้านเรือนชาวบ้านอยู่บนภูเขา รถเก็บขยะจาก อบต. ก็ขี้เกียจจะลากเกียร์ขึ้นไปบริการเก็บตามบ้าน แต่ชาวเมืองมิได้มัวแต่ก่นด่าราชการ พวกเขาดั้นด้นนำขยะที่คัดแยกมาอย่างประณีตไปส่งที่ศูนย์รีไซเคิลในตัวเมืองด้วยตัวเอง ในศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบขยะว่าถูกจัดจำแนกอย่างถูกต้องและประณีตจริงหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องตามแนวทางที่กำหนดไว้ก็จะไม่รับ และเชิญเจ้าของขยะกลับไปแยกใหม่ให้บรรจงกว่าเดิม ถ้าเป็นบ้านเรา อากาศร้อน ๆ คงได้มีสาวซักหมัดสองหมัดให้มีข่าวชาวบ้านลงโซเชี่ยลเล่นโก้ ๆ แต่ชาวคามิคาซึนั้นยอมรับกติกาอย่างเคร่งครัด ต่างก้มหัวคำนับแล้วร้อง โกเมงนาไซ โคนิจิวะ อะริงาโต้ ซาโยนาระ ม้วนตัวกลับไปแยกขยะใหม่อย่างสำนึกผิด         


จากปี 1997 ที่เริ่มต้นคัดแยกขยะออกเป็น 9 ประเภทตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ชาวคามิคาซึฮึกเหิมขึ้นเป็นลำดับ พวกเขายกมาตรฐานของการคัดแยกขยะให้สูงขึ้นกว่ามาตรฐานของเมืองใด ๆ โดยเพิ่มเป็น 22 ประเภทในปี 1998 และ 35 ประเภทในปี 2001 จนมาเริ่มใช้แนวคิด Zero Waste ในปี 2003 ระดับการคัดแยกยิ่งเข้มข้นยิ่งกว่าวีต้าพรุน ไม่เข้มข้น เราไม่นอน ในปี 2016 นั้น ชาวเมืองได้จารึกมาตรฐานการคัดแยกขยะที่จำแนกแยกยิบได้ถึง 45 ประเภท โดยมีเป้าหมายว่าในปี 2020 นี้ เมืองคามิคาซึ จะต้องไม่มีขยะเหลือไปฝังกลบอีกเลย เรียกว่าขยะทุกอย่างต้องถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด หรือที่เรียกว่า Zero Waste นั่นเอง…


…ดังนั้นและดังนี้ ถุงขยะแยกสีที่ท่านกำลังจะเลือกหยิบซื้อ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมใหม่ในอุดมคติของเราทุกคน… ถ้ายังไม่มั่นใจ งั้นมาดูกันว่า 45 ประเภทขยะที่ชาวเมืองคามิคาซึทำการคัดแยก มีอะไรบ้าง และนำไปสู่อะไรได้บ้าง เชิญ…



Our Products

Related Posts

Messenger Line