ทิ้ง E-waste อย่างไร ให้ถูกต้อง

ทิ้ง E-waste อย่างไร ให้ถูกต้อง

Social Environment | 30 Jun 2023

1,676 Views

การตัดสินใจทิ้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหรือไม่ใช้แล้วไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากคือการนำไปทิ้งให้ถูกต้อง เพราะการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกที่ จะทำให้ขยะเหล่านี้กลายเป็น E-waste ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คุณคิด แต่ E- waste คืออะไร? แล้วส่งผลเสียอย่างไร? เราจะได้รู้กัน  

E-waste คืออะไร?

E-waste ย่อมาจาก Electronic waste หมายถึง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต สายชาร์จ สายUSB กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ฯลฯ จัดเป็นขยะอันตรายที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกต้อง เนื่องจากการทิ้งขยะผิดประเภทจึงถูกทิ้งในบ่อขยะ (Landfill) รวมกับขยะชนิดอื่น ๆ รอวันถูกฝัง แต่เมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์สัมผัสกับความร้อนและความชื้นในบ่อขยะ ส่งผลให้สารอันตรายบางชนิดที่อยู่ภายใน เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนูรั่วไหลออกมา ซึ่งสารอันตรายเหล่านี้สามารถระเหยในอากาศ ซึมลงดิน หรือแม้แต่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ถ้ามีปริมาณมากพอ เมื่อสารพิษเหล่าปนเปื้อนในธรรมชาติ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือมนุษย์อย่างเรา

ผลกระทบจากสารอันตรายของ E-waste มีดังนี้

ตะกั่ว สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการดื่มกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน การสูดดม และการสัมผัสผ่านทางผิวหนัง หากตะกั่วสะสมในร่างกายมาก ๆ จะทำให้เป็นโรคโลหิตจาง และสร้างความเสียหายต่อเซลล์ประสาทส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีผลต่อทารกในครรภ์ โดยเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดออกมามีโอกาสสูงที่จะมีปัญหาด้านพัฒนาการ

ปรอท สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยวิธีการเดียวกับตะกั่ว ผลกระทบจากพิษของปรอทจำแนกได้ 2 ชนิด ดังนี้

  • ผลกระทบแบบเฉียบพลัน คือการรับสารปรอททีเดียวในปริมาณมาก ส่งผลให้มีไข้สูง หายใจติดขัด เวียนหัวคลื่นไส้ ปอดอักเสบ ถ่ายเป็นเลือด ไตวาย จนถึงขั้นเกิดอาการชักและหมดสติ
  • ผลกระทบแบบเรื้อรัง คือการค่อย ๆ สะสมตะกั่วในร่างกาย ส่งผลให้มีอาการประสาทหลอน เหงือกบวม โลหิตจาง  เลือดออกง่าย ตับและไตเสียหาย

สารหนู สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยวิธีการเดียวกับตะกั่ว  สารหนูมีความเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์อย่างมาก โดยแบ่งผลกระทบจากสารหนูเป็น 2 ชนิด ดังนี้

  • ผลกระทบแบบเฉียบพลัน คือการรับสารหนูเข้าไปครั้งเดียวในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดอาการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ ท้องเสีย หลอดเลือดเสียหายจนปรากฏรอยช้ำบนร่างกาย
  • ผลกระทบแบบเรื้อรัง คือการที่ร่างกายค่อย ๆ สะสมสารหนูจนเกินขีดจำกัด ส่งผลให้เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และโรคไต

ภาพจาก freepik.com 

การเพิ่มขึ้นของ E-waste

เดิมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มักจะถูกทิ้งเมื่อหมดอายุการใช้งาน แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการ “ตกรุ่น” ไวขึ้น ส่งผลให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีอายุการใช้งานสั้นลง กลายเป็นขยะเร็วขึ้น อีกทั้งยังถูกกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี ในปัจจุบันมีปริมาณ E-waste อย่างน้อย 347.8 ล้านตันตกค้างอยู่ในหลุมขยะทั่วโลก และมี E-waste เกิดใหม่อย่างน้อยปีละ 57.4 ล้านตัน โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตันในปีต่อ ๆ ไป

ภาพจาก freepik.com 

การทิ้งขยะ E-waste

ถึงจะนำมารีไซเคิลได้ แต่ขยะอิเล็กทรอนิกส์จัดเป็นขยะอันตราย ควรทิ้งในถังขยะอันตราย โดยทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะนำไปคัดแยกต่ออีกทีว่าชิ้นไหนนำไปรีไซเคิล หรือนำไปกำจัดทิ้ง

หลาย ๆ พื้นที่เริ่มมีถังขยะสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น โทรศัพท์หรือสายชาร์จ สามารถนำไปทิ้งในถังขยะ E- waste เหล่านั้นได้

สำคัญที่สุด! ห้ามกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการเผาหรือฝังเด็ดขาด

ภาพจาก pixabay.com

ใครจะไปคิดว่าการกระทำเล็กน้อยอย่างการทิ้งขยะไม่ถูกที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ขนาดนี้ แต่ในทางกลับกันถ้าทิ้งขยะได้อย่างถูกต้องก็จะเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน แม้เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในทันที แต่เราสามารถ “ลด” การเกิดปัญหาได้ เพียงแค่ทำเรื่องง่าย ๆ คนละไม้คนละมือเท่านั้นเอง 

Our Products

Related Posts

Messenger Line