กระดาษขาว A4 ถือเป็นขนาดมาตรฐานที่นิยมใช้สำหรับงานเอกสารและใช้กับเครื่องพิมพ์ ที่ทุกคนต้องเคยได้ใช้อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหรือผู้บริหาร จึงทำให้กระดาษชนิดนี้เป็นที่รู้จักมากกว่าขนาดมาตรฐานอื่นๆ แต่คุณผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมต้องเป็นกระดาษ A4
ทำไมจึงเรียกว่า A4
ที่จริงแล้ว อักษร “A” ไม่ได้เป็นตัวย่อ แต่มาจากกระดาษขนาดซีรีส์ A ตามมาตรฐานสากล ISO 216 ซึ่งว่าด้วยขนาดของกระดาษ บัญญัติขึ้นในปี ค.ศ. 1975 โดยจำแนกประเภทของกระดาษออกเป็น 2 ชนิด คือ กระดาษซีรีส์ A (ซึ่งยึดตามระบบกระดาษซีรีส์ A ของระบบเยอรมัน และเพิ่มกระดาษขนาดซีรีส์ B เข้ามาในมาตรฐานใหม่นี้
ในปีเดียวกันนั้น กระดาษ A4 ถูกกำหนดให้เป็นขนาดกระดาษมาตรฐานขององค์การสหประชาติ (United Nations) และ 2 ปีต่อมา กระดาษ A4 กลายเป็นขนาดมาตรฐานของจดหมายใน 88 จาก 148 ประเทศทั่วโลก
มาตรฐาน ISO 216
กระดาษ A
มาตรฐาน ISO 216 กำหนดให้กระดาษ A มีขนาดเริ่มต้นที่ A0 มีพื้นที่ 1 ตารางเมตร (84.1 × 118.9 ซม.) เมื่อตัดหรือพับครึ่งด้านที่ยาวที่สุด ก็จะได้กระดาษขนาด A1 จำนวน 2 แผ่น (59.4 × 84.1 ซม.) และสามารถแบ่งเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนได้กระดาษขนาด A10 ที่มีขนาดเล็กที่สุด (2.6 × 3.7 ซม.) โดยกระดาษทุกขนาดจะมีอัตราส่วนสัมพันธ์กันเสมอ คือ 1:√2 (~1:1.414)
ดังนั้น กระดาษ A0 จำนวน 1 แผ่นใหญ่ จะสามารถตัดแบ่งเป็นกระดาษ A4 (21.0 × 29.7 ซม.) ได้มากถึง 16 แผ่น
สาเหตุที่มีการกำหนดให้มีมาตรฐานกระดาษ เนื่องจากขนาดกระดาษในสมัยก่อนมีขนาดที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรงงานผู้ผลิต และสร้างความสับสนให้กับบรรดาช่างพิมพ์และผู้ใช้งานอย่างมาก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1922 ระบบเยอรมัน (DIN) ได้เผยแพร่มาตรฐานกระดาษ DIN 476 เป็นครั้งแรก และกระดาษซีรีส์ A จึงเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก และประเทศในทวีปอเมริกาใต้)
ผู้ที่เสนอให้ใช้อัตราส่วน 1:√2 สำหรับกำหนดขนาดกระดาษ คือ ศาสตราจารย์เกออร์ก คริสตอฟ ลิคเทนเบอร์ก นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน โดยอัตราส่วนดังกล่าวนี้ถูกยกมาพูดถึงครั้งแรกในจดหมายโต้ตอบกับโจฮานน์ เบ็คแมนน์ ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1786
กระดาษ B
กระดาษซีรีส์ B ใช้หลักการแบ่งกระดาษและใช้อัตราส่วนสัมพันธ์เหมือนกับซีรีส์ A (1:√2) ต่างกันที่กระดาษ B0 มีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาอีกเป็น 1.414 ตารางเมตร (100 × 141.4 ซม.)
กระดาษชนิด B ไม่นิยมใช้เป็นเอกสาร แต่ใช้เป็นขนาดหน้าตัดของสมุดบันทึก หนังสือ นิตยสาร หรือหนังสือสือพิมพ์
ทำไมต้อง 1:√2
ถึงจะไม่สวยสมบูรณ์แบบเหมือนสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) ที่ใช้ในการออกแบบ แต่ว่าสัดส่วน 1:√2 ที่ศาสตราจารย์ลิคเทนเบอร์กเสนอมานี้ ได้รับการพิสูจน์และคำนวณแล้วว่าช่วยให้พับครึ่งกระดาษได้อย่างสนิทอย่างรูปสมมาตร และเมื่อแบ่งครึ่ง จะได้กระดาษขนาดที่สัดส่วนเท่าเดิมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะกระดาษมีขนาดเล็กลงหรือใหญ่กว่าเดิม นอกจากนี้สัดส่วนที่สัมพันธ์กันเช่นนี้ ยังเป็นประโยชน์สำหรับการพิมพ์อีกด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อขยายหรือย่อขนาดงานพิมพ์ จากขนาด A4 เป็น A5 (หรือ A4 ขยายเป็น A3) ก็จะได้งานพิมพ์ที่อยู่ในตำแหน่งเดิมเหมือนกับต้นฉบับ ไม่มีข้อความหรือรูปภาพขาดหายไป และไม่จำเป็นต้องกระดาษส่วนเกินออก
เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกระดาษชนิด A และ B
กระดาษ A | กระดาษ B |
ขนาดเริ่มต้นของกระดาษ
A (A0)
มีพื้นที่
1
ตร.ม. | ขนาดเริ่มต้นของกระดาษ
A (A0)
มีพื้นที่
1.414
ตร.ม. |
ทุกขนาดของกระดาษ A (A0-A10) มีอัตราสัดส่วนสัมพันธ์เท่ากันคือ 1:√2 หรือ 1.414 | ทุกขนาดของกระดาษ B (B0-B10) มีอัตราสัดส่วนสัมพันธ์เท่ากันคือ 1:√2 หรือ 1.414 |
กระดาษหมวด A นิยมใช้สำหรับงานเอกสารหรืองานพิมพ์ | กระดาษหมวด B นิยมใช้เป็นขนาดหน้าตัดมาตรฐานของสมุดบันทึกนิตยสารและหนังสือ |
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอัตราส่วน 1:1.414 ได้กลายมาเป็นสัดส่วนมาตรฐานของสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ ตั้งแต่โปสเตอร์ แบบแปลน ไปจนถึงนามบัตร หรือแม้แต่แสตมป์จดหมาย แต่เรื่องของกระดาษ A4 คงต้องยกความดีความชอบให้แก่ ศาสตราจารย์เกออร์ก คริสตอฟ ลิคเทนเบอร์ก ผู้เสนอสัดส่วนมาตรฐานของขนาดกระดาษ เพื่อลดความสับสน และในเวลาต่อมาได้ทฤษฎีของท่านก็ได้ปูทางไปสู่ระบบเยอรมัน (DIN) และได้รับการปรับปรุงจนกลายเป็นมาตรฐานสากล ISO 216 ในเวลาต่อมา
ลองคิดดูว่าถ้าหากไม่มีคำว่า “กระดาษ A4” การไปซื้อกระดาษคงกลายเป็นเรื่องยาก และการสั่งพิมพ์ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็จะยิ่งน่าปวดหัวไม่น้อยเลยทีเดียว
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานของกระดาษ A และ B
ตัวอย่างการนำไปใช้งาน | |
A0, A1 | กระดาษโปสเตอร์, ใช้เขียนแบบแปลนงานช่างวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรม |
A1, A2 | ใช้เป็นกระดาษฟลิปชาร์ท สำหรับเขียนข้อนำเสนองานและแผนภูมิ |
A2, A3 | ใช้เป็นกระดาษวาดเขียน, กระดาษสำหรับแผนภูมิ และข้อมูลตาราง |
A3, B4 | ขนาดหนัาหนังสือพิมพ์ |
A4 | ใช้เป็นกระดาษโปสเตอร์, แบบฟอร์ม, แคตตาล็อกสินค้า, นิตยสาร, ใช้สำหรับเครื่องพิมพ์และเครื่องถ่ายเอกสาร |
A5 | สมุดฉีก, ใบปลิว, ใบเสร็จรับเงิน |
A6 | โปสการ์ด |
A5,
A6, B5,
B6 | ขนาดหนังสือทั่วไป |
A7 | นามบัตร |
A8, B8 | ขนาดไพ่ |
A10 | แสตมป์ |